ข่าว

"เรียนครูมายังไง" ถึงออกข้อสอบเด็กป.1 ภาพสะท้อน สถาบันผลิตครูจับฉ่าย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักวิชาการศึกษาเดือด ออกข้อสอบป.1 แบบนี้ได้เหรอ "เรียนครูมายังไง" มักง่าย ขี้เกียจ ไม่พัฒนา ชี้ข้อสอบปรนัยไม่จำเป็นอย่าใช้กับเด็กชั้นประถมฯ หากจะใช้ต้อง "มีคำตอบเดียว" ฤาถึงเวลาสถาบันผลิตครูต้องปรังปรุงคุณภาพบัณฑิตครูใหม่ ให้ตอบโจทย์ยุคดิจิทัจ

"เรียนครูมาได้ไง" ถ้อยคำจากปาก นักวิชาการด้านการศึกษา ในฐานะ “ครูของครู” ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ  อดีตประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.)อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลับราชภัฏนครราชสีมา รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ การวิจัยและนวัตกรรม และรักษาการคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา(มรภ.นครราชสีมา)เมื่อท่องโลกโซเชียลพบผู้ใช้เฟซบุ๊กHongtae Taecholarn ได้โพสต์แสดงความเห็นเกี่ยวกับการเฉลยข้อสอบเก็บคะแนนนักเรียนชั้นประถมปีที่1 (ป.1)โจทย์คำถาม สาเหตุใดทำให้ชาติไทยเจริญรุ่งเรือง คำตอบคือ บรรพบุรุษเสียสละ

 

เรียนครูมาได้ไง คำถามนี้ไม่เหมาะสมกับเด็กอายุ 7-11 ปี ยิ่งเป็นเด็กป.1 อายุประมาณ 7 ปีออกข้อสอบปรนัยแบบนี้ได้เหรอ มักง่ายไปไหม ขี้เกียจไปไหม ลอกข้อสอบจากเน็ตมาไหม เรียนครูมายังไง ถึงออกข้อสอบอิงการเมืองแบบนี้ ทำไมต้องลากการศึกษาเข้าไปยุ่งกับการเมือง ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่ครูทำกับเด็กที่เปรียบเหมือนเป็นผ้าขาววัยใสแบบนี้”

 

มันสะท้อนครูไม่มีวิสัยทัศน์ในการออกข้อสอบ คนที่เรียนจบวิชาชีพครู เขาไม่ทำกันแบบนี้ ยิ่ง 2 ปีมานี้เด็กเจอพิษโควิด-19 เรียนออนไซต์ไม่ได้ ต้องเรียนออนไลน์อยู่บ้าน มีพ่อแม่ทำให้

 

แต่ไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนจะช่วยเรื่องการเรียนลูกได้ การออกข้อสอบเกินวัยและไม่เหมาะสมกับเด็กแบบนั้นอันตรายมากกว่าจะเป็นการอวดภูมิความรู้ความสามารถของครู หรือแท้จริงครูออกข้อสอบเพื่อวัดผลอะไร เพราะที่ชัดเจนเด็กไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย

“ผมตกใจ เรียนจบครูมาได้ไง  เป็นครูมาได้ไง จบครูจริงหรือเปล่า ออกข้อสอบเด็กป.1 ได้อย่างไร เด็กจะตอบอย่างไร และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ครูออกข้อสอบผิดพลาด และผิดเพี้ยนไปจากข้อเท็จจริง”

 

ตัวอย่าง ข้อสอบ วิชาประวัติศาสตร์ ชั้นป.1

ถามว่า บุคคลในข้อใดที่นักเรียนสามารถนำมาเป็นแบบอย่างได้ใกล้ตัวนักเรียนมากที่สุด

คำตอบมี 3 ข้อให้เลือกดังนี้ก.พระสงฆ์ ข.พ่อแม่ ค.นักแสดง

คำตอบที่ถูกต้องของครูที่ออกข้อสอบคือ ข้อ ก.พ่อแม่

 

แต่เด็กดูทีวีทุกวัน เห็นภาพพ่อแม่ทะเลาะกันทุกวัน พระมีข่าวฉาวก็มีปัญหา เด็กจะตอบข้อไหนอยู่ที่เด็กรับรู้รอบตัวเขา อาจจะตอบนักแสดงที่เขาชื่นชอบ เด็กจะตอบข้อไหนก็ไม่ผิด ซึ่งข้อสอบแบบนี้ไม่ควรเป็นข้อสอบปรนัย

 

การออกข้อสอบแบบนี้ ครูเพียงใช้วิธีการซักถามเด็กก็ได้ หรือให้เด็กทำกิจกรรม เพื่อครูจะได้หาคำตอบทำไมนักเรียนตอบแบบนี้ ทำไมนักเรียนทำแบบนี้ มีรูปแบบหลากหลายในการวัดผลและประเมินนักเรียนที่ไม่ใช่การออกข้อสอบแบบปรนัย

 

“อย่าลืมว่าข้อสอบปรนัย เหมาะสำหรับการทำสอบเพื่อวัดความจำ และคำตอบต้อง มีคำตอบเดียว ที่เป็นอมตะไม่มีการเปลี่ยน เช่น เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกปีไหน มันเปลี่ยนแปลงคำตอบไม่ได้”

ตัวอย่างข้อสอบปรนัย คำถาม: เหตุการณ์ใดในครอบครัวที่น่าภาคภูมิใจที่สุด

คำตอบ ก.พ่อแม่มีฐานะร่ำรวย ข.พ่อแม่ประกอบอาชีพสุจริต ค.เราได้เรียนหนังสือในโรงเรียนที่มีชื่อสียง

ถามว่าเด็กจะตอบข้อไหน ซึ่งข้อสอบแบบนี้เป็นคำถามปลายเปิดเด็กตอบได้ทุกข้อ แต่ไม่เหมาะสมที่ครูจะนำมาออกข้อสอบ

 

“ครูที่ดีต้องดิ้นรน ค้นคว้าหาความรู้ พัฒนาเทคนิคการสอน การเป็นครูเหมือนการเป็นหมอ ไม่ใช่เรียนจบครูมาแล้วจะเก่ง ต้องอาศัยประสพการณ์ ผ่านเคสมาเยอะ ขึ้นอยู่กับคนด้วย แต่หมอชัดเจนเขาเรียนกับร่างกายคน หมอเรียนมาหมด

 

แต่ครูเรียนรู้มากว้างมาก ไม่รู้ชะตากรรม เรียนจบแล้วจะมาสอนเด็กชั้นประถมฯหรือไม่ เขาก็เรียนกว้างมาก ถ้าหยุดพัฒนาตัวเอง ครูเตรียมตกงาน ได้เลย ประสพการณ์สอนของครูจึงสำคัญมาก ครูต้องปรับตัวให้เข้ากับการเรียนการสอนยุคดิจิทัลให้ได้”

 

จากประสพการณ์เป็นครูสอนครู พบว่าครูจบใหม่จะเน้นเทคนิค แต่เข้าไม่ถึงจิตใจของเด็กหรือผู้เรียน แต่ ครูมืออาชีพ มีประสการณ์สอนสูง จะมองที่แววตาเด็กก็อ่านใจเด็กได้ว่า เด็กเบื่อ เด็กไม่อยากเรียน เด็กเรียนไม่เข้าใจ เด็กกำลังเป็นทุกข์ ฯลฯ ครูมืออาชีพ เมื่อเจอโจทย์นักเรียนก็จะปรับรูปแบบการเรียนการสอนหรือกิจกรรมให้เหมาะสมกับเด็กทันที ผลที่ตามมาเด็กเรียนรู้อย่างสนุก มีความสุขและได้ความรู้นำมาใช้ในชีวิตจริง

 

100ปีผลิตครูจับฉ่าย

ครู 6 แสนคน ถามว่ามีเยอะไหมที่ครูเป็นแบบนี้ จะให้แบบว่าดีหมดคงยาก มีครูแบบนี้ปะปนอยู่ เป็นเสียงสะท้อนจากโซเชียลจากสังคมถึงสถาบันผลิตครู คณะศึกษาศาสตร์ คณะครุศาสตร์ ต้องตระหนักและนำผลสะท้อนมาปรับปรุงกระบวนการผลิตครูของสถาบันตัวเอง

 

สถาบันผลิตครู ต้องกลับมามองว่าครูที่ผลิตออกไปจะเป็นแบบครูออกข้อสอบป.1 แบบนี้ไหม ต้องกลับมาดูว่าถ้ามีครูแบบนี้จะแก้ไขอย่างไร ตั้งแต่ต้นน้ำ(ระบบคัดเลือกเรียนครู) กลางน้ำ(กระบวนการผลิตครู) และปลายน้ำ(โรงเรียน) ทั้ง 3 ส่วนนี้ต้องสะท้อนความจริงและร่วมกันพัฒนาคุณภาพของครู

 

เพราะคนบางคนก็ไม่เหมาะสมจะมาเป็นครู เพราะครูแตกต่างจากวิชาชีพอื่น สถาบันผลิตครูมีการวัดแววครูในขั้นตอนสอบคัดเลือกครู คนที่จะมาเป็นครูต้องมีจิตวิญญาญความเป็นครูสูง มีความเมตตาสูง มีบุคลิคที่ดี ต้องพูดจาสื่อสารเป็น ไม่ก้าวร้าว เป็นนักประสาน ฯลฯ คนที่มีจิตใจที่มุ่งมั่นเป็นครูก็มาพัฒนาได้ง่ายกว่าคนอีกกลุ่มที่ไม่มีใจมาเป็นครู แต่ไม่รู้ว่าจะเรียนอะไร ก็มาเรียนครู

 

ต้องยอมรับความจริงกันก่อนว่าประเทศไทย ไม่ได้ผลิตครูเพื่อมาสอนนักเรียนในแต่ละระดับชั้น เช่น ชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวะศึกษา ฯลฯ แต่กว่า 100 ปีเราผลิตครูตามวิชากเอก เช่น ครูเอกภาษาไทย ครูเอกภาษาอังกฤษ ครูเอกคณิตศาสตร์ ครูเอกพลศึกษา ครูเอกวิทยาศาสตร์ ครูเอกสังคม ครูเอกจิตวิทยา ครูเอกวัดผล ครูเอกเทคโนโลยี ฯลฯ เรียนจบแล้วยังสอนทุกวิชาในโรงเรียนอีก ถามว่าคุณภาพเด็กจะเกิดหรือไม่ อันนี้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ต้องทบทวน

 

การผลิตครูของไทยกว้างมาก ข้อดีคือครูสอนได้หลากหลาย ข้อเสีย ครูไม่เข้าใจธรรมชาติของเด็ก ต้องเรียนวิชาชีพครูเพิ่ม ต้องเรียนรู้จิตวิทยาเด็กเพิ่ม แต่ครูบางคนละเลย ไม่นำสิ่งที่เรียนมาบูรณาการเมื่อต้องสอนเด็กจริงๆ

 

มหาวิทยาลัยเสี่ยงถูกปิด

อีกทั้งหลักสูตรผลิตครู มีทั้งแบบหลักสูตรผลิตครู 4 ปี และหลักสูตรผลิตครู 5 ปี แต่โลกเปลี่ยนไวมาก แต่วิชาชีพครูยังจำเป็น แต่ครูต้องปรับตัวสอน เมื่อผู้เรียนสามารถเรียนออนไลน์ที่ไหนก็ได้ จะเรียนหลักสูตรอะไรก็ได้ แต่ความจำเป็นที่จะมีมหาวิทยาลัยหรือมีสถานศึกษาจะน้อยลง สังคมจะด้อยค่าปริญญามากขึ้น แต่เน้นสมรรถนะ ความรู้ ความสามารถของคนว่าตรงกับงานที่องค์กรที่รับเข้าทำงานหรือไม่

 

“โควิด-19 เร่งรัดให้วิชาชีพครู อาจารย์ในสถานศึกษาต้องปรับตัวเร็วมากขึ้น จากเดิมอาจจะต้องปรับตัวภายใน 5-10 ปี แต่ปัจจุบันนี้ต้องปรับตัวทันทีไม่เกิน 3-5 มหาวิทยาลัยหลายแห่งอยู่ไม่รอดต้องปิดตัวเอง ครู อาจารย์ที่ไม่ปรับตัวก็เตรียมตกงาน เหมือนคนที่ทำงานแบงค์แม้การทำธุรกรรมทางการเงินยังอยู่ แต่ไม่จำเป็นต้องไปธนาคาร เพียงแต่โหลดแอปฯไว้ในมือถือทุกอย่างก็ดำเนินการธุรกรรมทางการเงินได้”

กมลทิพย์ ใบเงิน เรียบเรียง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ