ข่าว

ม็อบรถบรรทุกประท้วงส่วยซ่อนรูปปิดถ.บางนา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผู้ประกอบการรถบรรทุกสุดทนด่านตรวจถี่ยิบ 10 กม.เจอ 4 ด่าน ผนึกกำลังประท้วงปิดถนนบางนา-ตราด ยื่น 4 ข้อ เรียกร้องรัฐบาลแก้ปัญหาตำรวจจราจรกลางตั้งจุดตรวจจับควันดำ-เสียงดัง ยันสีกากีบางคนมุ่งทำยอดใบสั่งแลกเงินนำจับ 70-75% สว.ลงพื้นที่รับเรื่องด้วยตัวเอง รับปาก

 ผู้ประกอบการรถบรรทุกสุดทนด่านตรวจจับควันดำจนต้องลุกฮือประท้วงเกิดขึ้นเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 กุมภาพันธ์ สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้ประกอบการขนส่งทางบกทั่วประเทศไทย 13 สมาคม และ 4 ชมรม นำรถบรรทุก รถเครน และรถทัวร์ ประมาณ 300 คัน มาจอดในช่องทางด่วน ถ.บางนา-ตราด ฝั่งขาเข้า 2 ช่องทาง ช่วง กม.ที่ 4 เกือบถึง กม.ที่ 7 ความยาวเกือบ 3 กิโลเมตร เพื่อประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรกลางตั้งด่านจับควันดำ-เสียงดังซ้ำซาก สร้างปัญหาและความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประกอบการรถบรรทุกทั่วประเทศ ซึ่งการกระทำที่เกิดขึ้นเสมือนหนึ่งส่วยซ่อนรูป

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการประท้วงของผู้ประกอบการรถบรรทุกเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่ส่งผลกระทบด้านการจราจร โดยกลุ่มผู้ประท้วงจัดรถบรรทุกหกล้อติดตั้งเครื่องเสียงจอดในช่องทางด่วน ถ.บางนา-ตราด ฝั่งขาเข้า ซึ่งอยู่บริเวณหน้าอาคารเนชั่นทาวเวอร์ โดยมีแกนนำสลับกันขึ้นปราศรัยโจมตีการตั้งด่านตรวจควันดำและเสียงดังของตำรวจกองบังคับการตำรวจจราจรกลาง (บก.จร.) ที่ตั้งด่านแบบถี่ยิบ ระยะทาง 10 กิโลเมตร มีด่านตรวจลักษณะนี้ถึง 4 ด่าน

 นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่รถบรรทุกมารวมตัวกันในวันนี้เพราะได้รับความเดือดร้อนจริงๆ มาด้วยความบริสุทธิ์ใจ ต้องการเรียกร้องขอความเป็นธรรม จากการกระทำของตำรวจบางคนที่มุ่งทำยอดตรวจจับเขียนใบสั่งปรับรถบรรทุกในข้อหาควันดำและเสียงดัง เพื่อนำยอดไปแลกกับเงินนำจับ 70-75 เปอร์เซ็นต์ โดยการตรวจควันดำและเสียงดังไม่มีเจ้าหน้าที่ชำนาญการร่วมตรวจ ขณะเดียวกันเครื่องมือที่ใช้ก็เก่าเก็บไม่ได้มาตรฐาน ทั้งที่ส่วนใหญ่รถบรรทุกของผู้ประกอบการทุกคนมีการตรวจสภาพอยู่เสมอ

 นายอภิชาติ กล่าวอีกว่า ยิ่งไปกว่านั้นรถบรรทุกที่ติดตั้งแก๊สเอ็นจีวี รับรองว่าไม่มีควันดำแน่นอน แต่ตำรวจก็หาช่องเขียนใบสั่งเป็นเสียงดัง ซึ่งนั่นเป็นเป้าหมายหรือยอดที่ตั้งไว้รออยู่แล้ว หรือบางครั้งเมื่อตรวจเสียงดังก็จะให้กดคันเร่งจนมิดแช่ไว้นานเพื่อจะเอาเสียงดังหรือเอาควันดำให้ได้ ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการรถบรรทุกที่ได้รับความเดือดร้อน ยังมีรายงานว่าผู้ประกอบการรถแท็กซี่และผู้ประกอบการรถตู้ก็จะเข้าร่วมประท้วงกับพวกตนอีกด้วย และพวกตนยังมีพยานหลักฐานมีคลิปวิดีโอการรับเงิน หรือส่วยของตำรวจที่ตั้งด่านด้วย

 "เราเคยยื่นหนังสือร้องทุกข์ร้องเรียนไปยังกรมขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ถึงเรื่องนี้หลายครั้ง และส่งหนังสือร้องเรียนไปยัง บก.จร. แต่ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า พวกเรารอไม่ไหว ทนไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นจึงต้องออกมารวมตัวแสดงพลังเรียกร้องความถูกต้อง และต้องการให้รัฐบาลเร่งมาดำเนินการแก้ไขปัญหาการรับส่วยซ่อนรูปของตำรวจ วันนี้รัฐบาลต้องส่งตัวแทนมารับหนังสือร้องเรียนกับพวกเราที่นี่ และยังคงประท้วงต่อไปยังไม่มีกำหนดสลายตัว และพวกเราจะไม่เชื่อคำพูดของผู้ใหญ่ใน บก.จร.อีกแล้ว" นายอภิชาติ กล่าว

 ด้านนายวชิรศักดิ์ เล้าประเสริฐ นายกสมาคมการขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การรวมตัวประท้วงครั้งนี้เป็นแค่น้ำจิ้ม ยังมีผู้ประกอบการอีกจำนวนมากที่อยากจะเข้าร่วมประท้วงด้วย หากรถบรรทุกคันไหนสภาพแย่ ผิดจริงถูกจับเราก็ยอมเสียค่าปรับปฏิบัติตามกฎหมาย ยินดีให้จับ แต่มาจับทั้งที่เราไม่ผิด เราจึงไม่ยอม มวลสมาชิกซึ่งมีทั้งหมด 13 สมาคม และ 4 ชมรม มีความเดือดร้อนเกี่ยวกับเรื่องส่วยซ่อนรูปของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร หวังผลประโยชน์ในการออกใบสั่งอย่างไม่เป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการรถบรรทุก

 ต่อมาเวลา 10.30 น. นายทองอยู่ คงขันธ์ ที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ขึ้นปราศรัยว่า ที่ผ่านมาสหพันธ์ทำหนังสือไปถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคม กรมมลพิษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการตำรวจจราจร แต่ปัญหาดังกล่าวกลับยังไม่ได้รับการแก้ไข ได้รับคำตอบลักษณะเป็นการแก้ตัวของพนักงานเจ้าหน้าที่รัฐแค่นั้นถือว่าไม่ได้แก้ไขอะไรให้กลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุก

 "เราประท้วงวันนี้ เป็นการแสดงพลัง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการขนส่งทางบกที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจมุ่งหวังเอาเงินรางวัลนำจับและเงินรางวัลค่าปรับ โดยปัญหาส่วนใหญ่เป็นการตรวจจับควันดำและเสียงดังที่ตำรวจมีการตั้งด่านสกัดและจับกุมผู้ประกอบการรถสิบล้อ ซึ่งเรื่องนี้หลายครั้งเป็นการจับกุมที่ไม่เป็นธรรม ทั้งที่มีวิธีการตรวจสอบให้ถูกต้องและน่าจะมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบด้วย แต่กลับทำฝ่ายเดียว ซึ่งค่าเงินรางวัลนำจับเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ส่วนแบ่งเป็นเงิน 75 เปอร์เซ็นต์ของค่าปรับ ทำให้เจ้าหน้าที่มีความพยายามที่จะทำยอดค่าปรับจากการจับกุมต่อวันให้ได้วันละ 1,000 คัน" นายทองอยู่ กล่าว

 ต่อมาเวลา 10.50 น. นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการคมนาคมขนส่งทางบก วุฒิสภา มารับหนังสือร้องเรียนของผู้ประท้วง โดยนายสุรชัย กล่าวว่า ได้รับร้องเรียนจากผู้ประกอบการรถบรรทุกซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ที่กลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกระบุว่าเจ้าหน้าที่รับส่วย ซึ่งเป็นส่วยซ่อนรูปด้วยการทำยอดใบสั่ง เพื่อหักเปอร์เซ็นต์จากค่าปรับ ตนได้รับรู้และเข้าใจ และจะช่วยแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ตนเห็นว่านายกรัฐมนตรีควรจะเป็นเจ้าภาพสำคัญลงมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการโละระบบส่วยของเจ้าหน้าที่รัฐ

 "เรื่องนี้ทางวุฒิสภามีความจริงจังและจริงใจในการช่วยเหลือแก้ปัญหา และวุฒิสภาจะเป็นเจ้าภาพจัดเวทีเพื่อท้าพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในวันที่ 25 มีนาคมนี้ ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ให้ทุกคนทุกฝ่ายนำพยานหลักฐานทุกชิ้นที่มีไปพิสูจน์กัน เราจะเอาจริงเรื่องการตรวจสอบ เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะตำรวจซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย หาช่องโหว่ของกฎหมายมารังแกประชาชน" นายสุรชัย กล่าว

 นายสุรชัย กล่าวด้วยว่า เรื่องอุปกรณ์ตรวจควันดำและเสียงดังของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น ก็มีการร้องเรียนระบุว่าไม่มีประสิทธิภาพและใช้งานมานาน พร้อมทั้งไม่มีผู้ชำนาญการร่วมตรวจ เรื่องนี้ก็จะมีการตรวจสอบอุปกรณ์เช่นกันว่ามีขั้นตอนวิธีการตรวจอย่างไร ระดับขนาดไหนถึงเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด เจ้าหน้าที่ควรจัดหาอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพใช้งานได้แม่นยำในการตรวจ

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกของสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนกับนายสุรชัย โดยนายสุรชัยก็รับปากว่าจะเร่งดำเนินการตรวจสอบให้ความเป็นธรรม สร้างความสบายใจให้แก่กลุ่มผู้ประท้วง จากนั้นกลุ่มผู้ประท้วงก็สลายตัวแยกย้ายในเวลา 12.15 น.

 ส่วนหนังสือข้อเรียกร้องที่สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยต้องการนั้นมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 ข้อ คือ 1.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายหรือระเบียบว่าด้วยเงินรางวัลนำจับ รางวัลเบี้ยปรับ ได้ออกประกาศยกเลิกรางวัลนำจับและเงินรางวัลเบี้ยปรับของเจ้าหน้าที่ตำรวจทันทีเพราะเป็นต้นเหตุแห่งปัญหา "ส่วยซ่อนรูป"

 ข้อที่ 2 ขอให้ยกเลิกการตั้งด่านตรวจจับซ้ำซ้อนและถี่มากเกินไป เพื่อมุ่งหวังรางวัลนำจับของตำรวจ ของกรมการขนส่งทางบก, ของตำรวจทางหลวง และตำรวจท้องที่ ตลอดถึงการรีดไถ ฯลฯ

 ข้อที่ 3 ถ้าจำเป็นต้องมี ให้มีจุดตรวจควันดำ-เสียงดัง เป็นจุดตรวจ (ด่าน) ถาวร ที่มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีมาตรฐานและทันสมัย และมีเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มีสถานที่ตรวจที่จอดรถนอกพื้นที่การจราจร และมีศูนย์ซ่อมบำรุงปรับปรุงแก้ไขรวมอยู่ด้วย เพื่อไม่ให้กีดขวางการสัญจรของประชาชน เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดอุบัติเหตุจากการเรียกตรวจและมีกล้องวงจรควบคุมการทำงานเป็นศูนย์รวมที่เป็นอิสระ และกรวยอยู่ในถนนก่อนเข้าเขตเมืองกรุงเทพฯ และปริมณฑล

 และข้อที่ 4 การตรวจสอบเครื่องมือที่ใช้ควรมีหน่วยงานกลางที่ไม่ใช่ตำรวจเป็นผู้ตรวจสอบ มีมาตรฐานการทำความสะอาด "Calibrate" สม่ำเสมอ มีการรองรับคุณภาพของเครื่องจากหน่วยงานของรัฐ ขั้นตอน วิธีการต้องมีมาตรฐาน ต้องมีความชัดเจน ประชาชนและผู้ประกอบการรับรู้และประกาศเปิดเผยเป็นสาธารณะ

 นอกจากนี้ ด้านหลังของหนังสือข้อเรียกร้องยังมีการกำชับเป็นลายลักษณ์อักษรอีกว่า "ถ้าหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะกองบังคับการตำรวจจราจร กองบัญชาการตำรวจนครบาล ไม่ดำเนินการปรับปรุง แก้ไขให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มีนาคม 2553 สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย จะขับรถบรรทุกไปเยี่ยมท่านที่กองบังคับการจราจรกลางอย่างแน่นอน" ลงชื่อสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย

 วันเดียวกัน พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย ผบก.ประจำ บช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. กล่าวว่า จากข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมพบว่ามีความไม่พอใจในการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายที่ตั้งด่าน ไม่เพียงเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น แต่รวมถึงเจ้าหน้าที่ขนส่ง ในการตั้งด่านตรวจควันดำ โดยเริ่มปิดถนนตั้งแต่เวลา 09.00 น. จนสุดท้ายได้มีประธานอนุกรรมการในเรื่องนี้มารับเรื่องด้วยตนเอง และนัดประชุมในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ โดยเชิญทั้งตัวแทนผู้ชุมนุม ตำรวจจราจร ตำรวจทางหลวง เจ้าหน้าที่ขนส่ง ร่วมกันพูดคุยเพื่อหารือแนวทางแก้ปัญหา ผู้ชุมนุมจึงรับฟังและยอมเปิดเส้นทางจราจรเป็นที่เรียบร้อย

 ส่วนปัญหาเรื่องการตั้งด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ด่านแต่ละประเภทไม่เหมือนกัน สำหรับการตั้งด่านตรวจควันดำเป็นแผนปกติที่ต้องดำเนินการแต่ไม่มีเพียงตำรวจจราจรเท่านั้น ต้องมีเจ้าหน้าที่ขนส่ง เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ ส่วนด่านที่เกี่ยวกับการกวดขันวินัยจราจร พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผบช.น. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รอง ผบช.น. เป็นผู้รับผิดชอบตรวจสอบให้ชัดเจน โดยยืนยันว่าไม่มีมาตรการตั้งด่านจราจรในเวลากลางคืน พร้อมรวบรวมรายงานให้ พล.ต.ท.สัณฐาน ทราบ ส่วนข้อมูลปัญหาของผู้ประกอบการ ตำรวจก็ต้องรับฟัง ต้องนำข้อมูลทั้ง 2 ด้านมาหาแนวทางแก้ปัญหาโดยยึดหลักกฎหมาย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ