ข่าว

ครูอยู่ไหน รำลึก 100 ปี วันประถมศึกษาแห่งชาติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปี 2533 ปีทองวงการครู มีบทบาทขับเคลื่อน เปลี่ยนโฉมการศึกษา ปี2564 อย่าให้ 100 ปี ของการประถมศึกษาไทย เป็นจุดสิ้นสุด แต่ขอให้เป็นจุดเริ่มต้น เพื่อ ครูไทย ทุกคน

พระราชบัญญัติประถมศึกษา เริ่มใช้ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2464 นับถึงวันนี้ ครบ 100 ปี พอดี แม้ว่าจะมีการจัดการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาอยู่ แต่รูปแบบและโครงสร้างก็มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้คำว่า “ประถมศึกษา” ถูกทำให้เลือนหายไป แต่ขอให้ครูทุกคนระลึกไว้เสมอว่า ที่เรามาถึงจุดนี้ได้เพราะคำว่า “ประถมศึกษา”

 

ในยุคเริ่มต้น วันปฐมศึกษาแห่งชาติ 25 พฤศจิกายน 2464 เป็นวันที่รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อการศึกษาของไทย เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงวางรากฐานให้กับการศึกษาของชาติ เนื่องจากทั้งสองพระองค์ทรงเป็นผู้ให้การสนับสนุนการประถมศึกษา และพระราชทานตราพระราชบัญญัติด้านการประถมศึกษาเอาไว้

 

ในยุคเริ่มแรก การประถมศึกษาของไทยอาศัย บ้าน วัด วัง เป็นสถานศึกษามาตั้งแต่ในสมัยสุโขทัย จนถึงรัตนโกสินทร์ ประเทศไทยนับเป็นประเทศหนึ่งที่เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาเห็นได้จาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎร์ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ วัดมหรรณพาราม และขยายการศึกษาไปตามหัวเมืองต่างๆ

ในรัชสมัย ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตราพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ขึ้น เพื่อบังคับให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และเพื่อให้เด็กทุกคนรู้หนังสือจึงทรงตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาออกบังคับเป็นเขต ๆ ไป

 

 เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2464 เพื่อกำหนดให้เด็กที่มีอายุ 7 ปี บริบูรณ์ทุกคนต้องเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนจนอายุครบ 14 ปี บริบูรณ์ โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน นับเป็นการเริ่มต้นการศึกษาภาคบังคับในระดับประถมศึกษา โดยพระราชบัญญัติประถมศึกษานี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2464

 

ด้วยเหตุนี้ ในช่วงตั้งแต่ ปี พ.ศ.2491-2509 กระทรวงศึกษา กำหนดให้วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันประถมศึกษาแห่งชาติ ต่อมาโรงเรียนประถมศึกษาได้ถูกโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด กระทรวงมหาดไทย

 

ตั้งแต่นั้นมางานวันประถมศึกษาแห่งชาติจึงเปลี่ยนชื่อเป็น วันศึกษาประชาบาล

ต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2523 ได้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษา (สปช.)ขึ้น จึงได้โอนโรงเรียนประชาบาล กลับมา สังกัดคณะกรรมการการประถมศึกษา การจัดงานวันศึกษาประชาบาลจึงสิ้นสุดลง

 

และกลับมาจัดงาน “วันประถมศึกษาแห่งชาติ” ขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้เปลี่ยนจากวันที่ 1 ตุลาคม มาเป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แทน

 

ในปัจจุบัน คำว่า “วันประถมศึกษาแห่งชาติ” หายไป ยังคงไว้แต่หน้าที่การสอน กิจกรรมต่างๆ ที่เคยเป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นแหล่งสานความสัมพันธ์ ระหว่างครูประถมศึกษา ได้หายไป แต่ก็ไม่ปรากฏว่า มีการจัดกิจกรรมอื่นมาทดแทน ไม่มี “วันการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ”

 

ความสำคัญของการศึกษาลดถอยลงหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าคิด แม้ว่า องค์กรหรือหน่วยงานจะยิ่งใหญ่เพียงใด บุคคลในองค์กรจะก้าวหน้าเพียงใด หากไม่มีรากเหง้าให้ยึดเหนี่ยวก็คงนับวันที่จะแตกสลาย

 

การแสดงออกถึงความสำคัญในเชิงของสัญลักษณ์ ก็มีความจำเป็นต่อองค์กร สะท้อนถึงความเข็มแข็งของบุคลากรในสังกัด องค์วิชาชีพ สมาคม สมาพันธ์ หรือองค์กรที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่น ในวิชาชีพครู ควรร่วมกันสะท้อนความคิดความเห็น เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความสามัคคีให้กับวงการครูอีกครั้ง เหมือนกับครั้งหนึ่งที่เราเคยสำเร็จใน ปี 2533 จนเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในทุกวันนี้

 

อย่าให้ 100 ปี ของการประถมศึกษาไทย เป็นจุดสิ้นสุด แต่ขอให้เป็นจุดเริ่มต้น เพื่อครูทุกคน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ