วิปรัฐบาลเสนอ "ร่างกฎหมายลูก" ต่อรัฐสภา ธ.ค. นี้
วิปรัฐบาลย้ำเสนอ "ร่างกฎหมายลูก" 2 ฉบับ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.- พ.ร.ป.พรรคการเมือง ร่วมกันเพื่อเอกภาพ คาดเสนอรัฐสภาได้เดือนธันวาคมนี้ เตรียมแก้ไขไพรมารีโหวต ชี้เป็นภาระพรรคการเมือง ปฏิบัติจริงไม่ได้
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงความคืบหน้าการเสนอ "ร่างกฎหมายลูก" 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาล ว่า ที่ประชุมวิปรัฐบาลมีความเห็นว่าจะร่วมกันเสนอให้เป็นร่างเดียวกัน เพื่อให้มีความเป็นเอกภาพ เพราะเป็น
กฎหมายสำคัญประกอบรัฐธรรมนูญและที่สำคัญเป็นกฎหมายที่ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 180 วันหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้
และขณะนี้วิปรัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อที่จะยก"ร่างกฎหมายลูก"ดังกล่าวแล้วและได้มีการประชุมครั้งแรกไปแล้ว โดยได้มีการกำหนดกรอบต่างๆ และในสัปดาห์นี้จะให้แต่ละพรรคการเมืองได้ส่งร่างที่แต่ละพรรคได้ยกร่างกันมา ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น จะแก้ไขเฉพาะประเด็นที่สำคัญเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเท่านั้น โดยจะสามารถนำเข้าสู่ที่ประชุมวิปรัฐบาลเพื่อพิจารณาครั้งสุดท้ายให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และคาดว่าภายในเดือนธันวาคมก็จะสามารถยื่นต่อประธานรัฐสภาได้
ระบบบัตร 2ใบนั้น มีข้อดีที่ทำให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง และทำให้อิทธิพลของการซื้อเสียงลดลง และที่สำคัญยังส่งเสริมเสรีภาพทางการเมืองให้กับประชาชนสามารถเลือกทั้งพรรคและตัวบุคคลได้ ซึ่งเป็นไปตามโมเดลรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ทำให้พรรคใหญ่มีความเข้มแข็งขึ้น แต่ก็จะกระทบกับพรรคขนาดเล็กในเรื่องของการคิดคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่จะใช้วิธีคิดสัดส่วนโดยตรง ข้อดีอีกประการคือจะไม่มีระบบบัตรเขย่งและจะไม่มี ส.ส.ปัดเศษ นายชินวรณ์ กล่าว
ทั้งนี้นายชินวรณ์ ยังกล่าวถึงการแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง ว่า วิปรัฐบาลมีความเห็นร่วมกันเพื่อส่งเสริมให้พรรคการเมืองสามารถแสวงหาสมาชิกพรรคได้ง่ายขึ้นภายใต้บริบทของพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยเห็นว่าไม่ควรเก็บค่าธรรมเนียมในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคหรือหากจะเก็บก็ขอให้น้อยที่สุด เพราะการเก็บค่าธรรมเนียมถือเป็นข้อจำกัดในการส่งเสริมเสรีภาพของประชาชนในการเข้าร่วมพรรคการเมืองที่เป็นช่องทางสำคัญในระบอบประชาธิปไตย
รวมถึงจะแก้ไขในเรื่องการจัดทำไพรมารีโหวตที่เคยมีมาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งถือเป็นสิ่งตกค้างจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ร่างโดยผู้ที่ไม่ได้เป็นนักการเมือง จึงต้องยอมรับว่าเมื่อเราต้องการมีระบบพรรคการเมืองที่เข้มแข็งในระบอบประชาธิปไตย เราควรที่จะให้อำนาจพรรคการเมืองในการสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมือง
ระบบไพรมารีโหวตนั้น เป็นระบบที่เป็นซากของรัฐธรรมนูญปี60 ที่สร้างขึ้นมาโดยไม่จำเป็นและปฏิบัติไม่ได้จริง ที่ผ่านมาก็เป็นเรื่องที่ทำให้เป็นภาระของพรรคการเมือง และประชาชนก็ไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจัง นายชินวรณ์ กล่าวทิ้งท้าย