"เศรษฐกิจไทย" พุ่ง พาณิชย์เปิดให้ต่างชาติลงทุน เป็นเงินกว่าหมื่นล้านบาท
"เศรษฐกิจไทย" พุ่ง "พาณิชย์" อนุญาตให้ต่างชาติลงทุนในไทย 213 ราย เป็นเงินลงทุนรวม 11,554 ล้านบาท และมีการจ้างงานคนไทยกว่า 5,000 คน ตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (นายทศพล ทังสุบุตร) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานให้ทราบว่า 10 เดือน (ม.ค. - ต.ค.) ของปี 2564 คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 213 ราย เงินลงทุนรวมกว่า 11,554 ล้านบาท เกิดการจ้างงานคนไทยกว่า 5,000 คน
โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 82 ราย (ร้อยละ 38) สิงคโปร์ 33 ราย (ร้อยละ 15) และ ฮ่องกง 20 ราย (ร้อยละ 9)
ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ
* ธุรกิจบริการเป็นที่ปรึกษา บริหารจัดการ และให้บริการเดินรถและซ่อมแซมบำรุงรักษารถไฟ
ความเร็วสูง ภายใต้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินในประเทศไทย
* ธุรกิจบริการออกแบบทางวิศวกรรม วางระบบและทดสอบเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับโครงการศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าอัจฉริยะระหว่างประเทศ
* ธุรกิจบริการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านประกันภัย
* บริการออกแบบวิศวกรรม จัดซื้อจัดหา ก่อสร้าง ทดสอบและตรวจสอบท่อลำเลียงเชื้อเพลิงก๊าซรวมถึงสถานีควบคุมและวัดปริมาตรก๊าซธรรมชาติสำหรับโครงการไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม เป็นต้น คาดว่าไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 นี้ จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่อนคลายให้มีการเปิดประเทศ และเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ เฉพาะเดือนตุลาคม 2564 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างชาติ 28 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 703 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 745 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการเงินและสินทรัพย์ดิจิทัล องค์ความรู้เกี่ยวกับคุณลักษณะของเพชร การตรวจสอบคุณภาพ และการเก็บรักษาเพชร องค์ความรู้เกี่ยวกับการติดตั้ง การตั้งค่าระบบ การซ่อมแซม การบำรุงรักษา และการปรับปรุงเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งและสภาวะทางการแพทย์อื่นๆ โดยระบบการรักษาด้วยรังสี เป็นต้น
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่
1. ธุรกิจนายหน้า ค้าปลีก จำนวน 3 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศอินเดีย เยอรมนี และ ญี่ปุ่น เงินลงทุนจำนวน 27 ล้านบาท ได้แก่
* ค้าปลีกสินค้าประเภทชิ้นส่วนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รวมทั้งอุปกรณ์และชิ้นส่วนที่ใช้ร่วมกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
* นายหน้าหรือตัวแทนในการจำหน่ายสินค้าประเภทอุปกรณ์เชื่อมต่อกระแสไฟฟ้า อุปกรณ์แปลงสัญญาณไฟฟ้า ตัวควบคุมระบบอัตโนมัติ
* ค้าปลีกแม่พิมพ์ (Mold) และอุปกรณ์จับยึดชิ้นงาน (Jig) ที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะและชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
2. ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 12 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศอาทิ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์
และเกาหลีใต้ เป็นต้น เงินลงทุนจำนวน 234 ล้านบาท อาทิ
* บริการรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์ไอศกรีม
* บริการให้เช่าซื้อสินค้าประเภทเครื่องจักรกลงานก่อสร้าง
* บริการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง
3. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 10 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศอาทิ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น เงินลงทุนจำนวน 315 ล้านบาท อาทิ
* บริการจัดทำแผนที่ดิจิทัล (digital map)
* บริการให้กู้ยืมเงิน
* บริการทางบัญชี บริการทางกฎหมาย และกิจการโฆษณาโดยให้ใช้พื้นที่บนแอพพลิเคชั่น
4. คู่สัญญากับเอกชน จำนวน 3 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศจีน และเกาหลี เงินลงทุนจำนวน 127 ล้านบาท ได้แก่
* บริการออกแบบวิศวกรรม จัดซื้อจัดหา ก่อสร้าง ทดสอบและตรวจสอบท่อลำเลียงเชื้อเพลิงก๊าซรวมถึงสถานีควบคุมและวัดปริมาตรก๊าซธรรมชาติสำหรับโครงการไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม
* บริการออกแบบทางวิศวกรรม จัดหาวัสดุอุปกรณ์ ก่อสร้าง ติดตั้งและทดสอบการทำงานของระบบ และการฝึกอบรม สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ
* บริการออกแบบทางวิศวกรรม จัดหาวัสดุอุปกรณ์ ก่อสร้าง ติดตั้งและทดสอบหม้อไอน้ำประเภท
ฟลูอิไดซ์เบด สำหรับโครงการพลังงานสะอาด