ข่าว

สัมภาษณ์ ปรีดา บุญเพลิง เป็นครูมาทั้งชีวิต "แก้หนี้ครู" ตั้งใจทำเพื่อครู

ครูกว่า 9 แสนเป็นหนี้1.4 ล้านล้านบาท "ปรีดา บุญเพลิง" อดีตแกนนำองค์กรครูเลื่องชื่อ ขออาสา "แก้หนี้ครู" ตั้งใจทำเพื่อครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ

"แก้หนี้ครู" ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งเมื่อวันที่3 ตุลาคม 2563 โดยนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยต่อสถาการณ์ปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึษา ซึ่งปัจจุบันพบว่าครูทั่วประเทศประมาณ 9 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 80 มีหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท

 

"หนี้ครู" ปรากฏว่าเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดคือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู วงเงิน 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64 รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน วงเงิน 3.49 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25 ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เร่งหาแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรอย่างยั่งยืน

 

เวลาผ่านไปร่วมเดือนปัญหา “แก้หนี้ครู” เริ่มเข้าสู่กระบวนการแก้ไขอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะล่าสุดมีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูสภาผู้แทนราษฏร

เกี่ยวกับเรื่องนี้ "คมชัดลึก" ได้รับการเปิดเผยจาก ดร.ปรีดา บุญเพลิง อดีตแกนนำองค์กรครู อดีตเลขาธิการคุรุสภา ในฐานะประธานคณะอนุกมธ.พิจารณาหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูสภาผู้แทนราษฏรในคณะกมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาและแนวทางการบริหารจัดการหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเป็นระบบ ว่า

 

"ผมเป็นครูมาทั้งชีวิตเข้าใจถึงหัวอกคนเป็นครูที่มีหนี้เป็นอย่างไร ไม่ใช่ครูทุกคนอยากสร้างหนี้ แต่ส่วนมากหนี้ครู จำเป็นต้องกู้มาเพื่อดูแลครอบครัว"

 

“แก้หนี้ครู” หากมีจำนวนมากแน่นอนกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของครู กระทบต่อนักเรียน คงไม่มีครูคนไหนไม่ทุกข์เมื่อเป็นหนี้  แต่การทำหน้าที่ครู ก็ต้องแยกออกจากกัน 

 

เมื่อวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ต้องแยกภาระหนี้ครู กับหน้าที่สอนหนังสือนักเรียนให้ออกจากกัน เด็กนักเรียนต้องไม่ได้รับผลกระทบจากการที่ครูเป็นหนี้

การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องสนุก  แต่เมื่อจำเป็นก็เลี่ยงไม่ได้ ขอชี้แจงแทนครูว่าครูไม่ได้สร้างหนี้เพราะอยากอวดร่ำรวย หรือนำเงินไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

 

แต่ทุกปัญหามีทางออก ผมในฐานะที่เป็นครูมาตลอดชีวิต เต็มใจจะหาทาง "แก้หนี้ครู" อย่างบริสุทธิ์ใจไม่มีอะไรแอบแฝง เพื่อช่วยเหลือครูจริงๆ 

 

ส่วนการ “แก้หนี้ครูทั้งระบบ” นั้น ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาหนี้สินครูฯ ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ที่ห้องประชุม N405 ชั้น4 อาคารรัฐสภา มีผลสรุปดังนี้

 

1.ใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นฐานในการแก้หนี้ครูทั้งระบบ โดยใช้หลักการ “ครูช่วยครู” คณะกรรมการ คัดเลือกสหกรณ์ต้นแบบชุดแรก จำนวน 20 แห่ง และจะคัดเลือกชุดที่ 2 ต่อไปพร้อมประกาศรายชื่อภายใน 2 สัปดาห์

 

2.เสนอตั้งกองทุน “กองทุนพัฒนาครูไทย” หรือ ออกพันธบัตร เพื่อระดมทุนแก้ปัญหาหนี้สินครูฯ

 

3. แก้ไข พ.ร.บ.สหกรณ์2542 มาตรา 42 ให้สมาชิกสามารถนำเงินค่าหุ้นหักกลบลบหนี้ได้ และมาตราอื่นๆที่เป็นอุปสรรคปัญหาต่อการแก้าหนี้ครู

 

4. เสนอสภาผู้แทนราษฎรการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ เป็นวาระแห่งชาติ

 

5. ผู้กู้มีเงินเหลือจากหักชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 30% ของเงินเดือน/บำนาญ ต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามคำสั่งศาลปกครอง และประกาศกระทรวงศึกษาธิการ

 

"ยังมีมาตรการแก้หนี้ครูทั้งระบบ อีกมากมาย ที่เตรียมนำเสนอรัฐบาล โดยรัฐบาลไม่ต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน แต่มีวิธีอื่นที่จะช่วยแก้หนี้ครูได้

 

ซึ่งในรายละเอียดต่างๆ จะค่อยๆ มีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อทุกภาคส่วนที่ร่วมแก้ไขหนี้ครูมีความเห็นชอบร่วมกัน เพราะหนี้ครูเป็นปัญหาที่ต้องแก้ให้จบ เพื่อขวัญและกำลังใจของครู" ดร.ปรีดา กล่าว

ข่าวยอดนิยม