ไม่ยอมเลิก เพื่อไทยปลุกคนเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งเปลี่ยนสูตรใหม่
ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.เพื่อไทย ไม่ยอมเลิก ปลุกประชาชนร่วมกันเข้าชื่อ 1เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ปรับทิศทางรอบหน้าเสนอแก้ไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)
แม้การเข้าชื่อประชาชนของกลุ่มตัวแทนปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบไปแล้ว รวมถึง นายพริษฎ์ วัชรสินธุ หรือไอติม จนถูกเรียกว่า ร่างแก้ไขรธน.ฉบับไอติม ได้ถูกที่ประชุมร่วมรัฐสภาเสียงส่วนใหญ่โหวตคว่ำร่างรธน.ฉบับไอติมไปแล้วก็ตาม แต่ทว่า อีกด้านหนึ่งของพรรคการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) ดูจะปลุกพลังความหวังขึ้นมาอีกครั้งด้วยการให้เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรธน.ขึ้นมาอีกครั้ง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 พ.ย.64 นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย(พท.) แถลงว่า ผลการลงมติร่างรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชนเป็นไปตามคาดหมายที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะตกไป ต้องใช้เสียง ส.ว.กว่า 84 เสียง ในชั้นรับหลักการวาระที่1
"แต่ก็ไม่อยากให้ประชาชนกว่า 1.3 แสนคนที่เคยเข้าชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ล้มเลิกความคิด ให้เสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาอีกครั้ง " นายยุทธพงศ์ แถลง
นายยุทธพงษ์ แถลงว่า โดยเสนอแก้ไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)มาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถผ่านได้เพราะสภาเคยมีความเห็นโหวตรับหลักการในการแก้ไขมาตรา 256 มาครั้งหนึ่งแล้ว
แต่มี ส.ว.ส่วนหนึ่งยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความทำให้ตกไป อยากให้ประชาชนเสนอแก้รัฐธรรมนูญตามมาตรา256 อีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ ตัวแทนภาคประชาชนที่มีประชาชนร่วมลงชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญกว่า 1.3 แสนคนนั้น มีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และในฐานะตัวแทนกลุ่ม Re-Solution และนายปิยะบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เป็นผู้เสนอและอภิปรายถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยเน้นย้ำแก้ไขใน 4 หลักการแต่ไม่อาจผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่
สำหรับการแก้ไข 4 หลักการตามแบบฉบับร่างรธน.ฉบับไอติม คือ
1.ล้มวุฒิสภา โดยให้ ส.ว.ชุดปัจจุบัน 250 คน ที่มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ ด้วย พ้นสภาพทันทีหลังมีการแก้ไข รธน.สำเร็จแล้วให้ใช้ระบบสภาเดี่ยว มีแต่สภาผู้แทนราษฎร ไม่ต้องมีวุฒิสภาอีกต่อไป
2.โละศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบันทั้งหมด ในลักษณะเซตซีโร่หมดแล้วนับหนึ่งใหม่ แก้ไขเรื่องที่มา-กระบวนการคัดเลือก-เพิ่มระบบตรวจสอบการใช้อำนาจ เช่น เรื่องที่มาตุลาการศาล รธน. ก็ให้สภาฯ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมีอำนาจในการเสนอรายชื่อบุคคลเป็นตุลาการศาล รธน.ได้ฝ่ายละ 3 คน โดยให้สภาฯ เป็นผู้ลงมติเห็นชอบรายชื่อ ซึ่งประเด็นดังกล่าวน่าจะโดนโต้แย้งว่า จะเปิดช่องให้นักการเมืองเข้าแทรกแซงครอบงำศาล รธน.และองค์กรอิสระอื่น ๆ ได้ จนอาจเกิดวิกฤตศาล รธน.และองค์กรอิสระขึ้นอีกครั้งแบบในยุคระบอบทักษิณ
3.ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ โดยเสนอให้ตัดทิ้งมาตรา 257-261 ออกทั้งหมด และ
4.ล้างมรดกรัฐประหารจากยุค คสช. โดยให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 เพื่อทำให้คำสั่ง คสช.และหัวหน้า คสช.มีผลเป็นโมฆะทั้งหมด ที่หากทำสำเร็จ ก็อาจเป็นช่องทางให้นำไปสู่การหาช่องเช็กบิลขั้วอำนาจเก่า คสช.ได้ ดังนั้นจึงหวังว่า ส.ว.จะผ่านวาระแรกให้ โดยเห็นแก่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นหลัก