ข่าว

แนะ5ทริค “สพฐ.-ครู” ปฏิบัติตาม คุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนจะดีขึ้น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แนะ "สพฐ.-ครู" ปฏิบัติตาม 5 ข้อนี้ “ศ.ดร.กนก” ให้คำมั่นว่าคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนจะดีขึ้น ครูภูมิใจกับการเรียนการสอนตามวิชาชีพครูของตนเอง ส่วนสพฐ.จะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพการศึกษาของประเทศ โดยไม่ต้องอาศัยกฎหมายปฏิรูปการศึกษา

ในวันที่หลายอย่างไม่ลงตัว เกิดเสียงโต้แย้งหลังร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในวาระแรก รอลุ้นขั้นแปรญัตติ จะออกมาอย่างไร แต่สำหรับการ “ปฏิรูปการศึกษา” ในมุมมองของ “ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน” อดีตนักวิชาการด้านการศึกษา กลับเห็นว่าหลายอย่างลงมือทำได้เลย ทั้ง “สพฐ.- ครู” เพื่อคุณภาพของผู้เรียน ไม่ต้องรอกฏหมายการศึกษา

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้  “ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน” ได้แชร์ความคิดเห็นนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ในหัวข้อวว่า “ปฏิรูปการศึกษา” ต้องเริ่มจาก “รู้” ปัญหา และ “เห็นทาง” แก้ไข

 

โรงเรียนในระดับชั้นทั่วไปกำลังจะเปิดการเรียนการสอนขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ต้องหยุดยาวเพราะสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด 19 ในช่วงเวลาที่ต้องปิดโรงเรียนนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้ผลักดันให้ใช้การเรียนการสอน 5 รูปแบบ คือ 1. On line 2. On Demand 3. On Air 4. On Hand และ 5. On Site

 

 ซึ่งผลลัพธ์ที่ปรากฏออกมาก็คือ นักเรียนเกิดความเครียด การสอนไม่สามารถสร้างการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ไปจนถึงความขัดข้องทางเทคนิคจากเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้สนับสนุนการเรียนการสอน เป็นต้น

เมื่อวิเคราะห์ปัญหาลงลึกลงไปพบว่า 5 รูปแบบการเรียนการสอนที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. กำหนดมานั้น เป็นเพียง “รูปแบบ” (Forms) การสอนเพื่อให้ครูนำไปปฏิบัติเท่านั้น แต่ “สาระ” (Contents) ของการเรียนการสอนนั้น ยังไม่มีการปรับให้มีความสอดคล้องกับรูปแบบการเรียนการสอนที่ครูเลือกใช้ 

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ นักเรียนมีสาระให้ต้องเรียนรู้มาก และมีการบ้านที่ต้องรับผิดชอบมาก รวมไปถึงเนื้อหาสาระวิชาที่สอนไม่สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนการสอน เช่น การสอนนักเรียนชั้นประถมว่ายน้ำผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น จึงเป็นที่มาของ “สภาวะแห่งความเครียด” สำหรับนักเรียน และพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างมาก

 

คำถามก็คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ และมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ได้ประเมินการเรียนการสอนที่ผ่านมาอย่างไร และเป็นไปตามหัวข้อดังกล่าวนี้หรือไม่

1. "สพฐ.-ครู" ได้รับทราบข้อผิดพลาด ข้อบกพร่อง ไปจนถึงข้อจำกัดในการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างไรบ้าง

2. "สพฐ.-ครู" ได้ค้นพบหรือยังว่า สาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น (ตามที่กล่าวถึงข้างต้น) นั้นเกิดจากอะไร

และ 3."สพฐ.-ครู" เตรียมปรับมาตรการ และวิธีการสอนใหม่ เพื่อรองรับการเรียนการสอนในชั้นเรียนหรือไม่ และอย่างไร

นี่คือการประเมินใน 3 ประเด็นที่สำคัญ ซึ่งทาง "สพฐ.-ครู" ต้องตกผลึกให้ได้ เพราะถ้ายังไม่สามารถเข้าถึงประเด็นที่เป็นอุปสรรค และคิดหากลไกทางออกได้สำเร็จ คุณภาพการเรียนการสอนในชั้นเรียนที่กำลังจะเกิดขึ้นก็จะเป็นเหมือนเดิม เต็มไปด้วยปัญหา และคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนที่ตกต่ำ 

 

ที่สำคัญ ยังสะท้อนว่า เหตุการณ์แพร่ระบาดช่วงโควิดระลอก 2 นั้น ไม่ได้ให้การเรียนรู้ต่อทาง "สพฐ.-ครู" เพิ่มเติมขึ้นมาได้เลย ซึ่งนั่นก็จะเป็นแค่เพียงอีกหนึ่งฝันร้ายของนักเรียนเท่านั้น

 

สำหรับข้อเสนอที่ผมขอฝากให้ สพฐ.และครู กรุณานำไปพิจารณา และวิเคราะห์เพิ่มเติม เพื่อหวังจะช่วยให้ สพฐ.และครู สามารถจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพได้มากขึ้น มีดังนี้

 

1. ปัญหาของครูที่ไม่สามารถปรับลดสาระวิชาที่ สพฐ. กำหนด ให้สอดคล้องกับบริบทหรือเงื่อนไขการจัดการเรียนการสอนจริงของตนเองได้ ไม่ว่าจะด้วยความกังวลว่าจะเกิดข้อผิดพลาดอันเกินความรับผิดชอบของตนเอง หรือขาดความรู้ที่เพียงพอ ไปจนถึงความไม่ใส่ใจของครูในการปรับลดสาระวิชาเหล่านั้น

 

ในประเด็นนี้ทาง สพฐ. ต้องคิดวิเคราะห์ปัญหาให้แตก เพราะการเรียนรู้ของนักเรียนต้องมีสาระอันสอดคล้องกับสภาพชีวิตจริงของนักเรียนในแต่ละพื้นที่ ถ้าครูไม่มีความสามารถในการปรับสาระวิชาให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ของนักเรียน สุดท้ายสาระวิชาที่สอนของครูทั้งประเทศก็จะเหมือนกัน คือ สอนตามสาระที่ สพฐ. กำหนด

 

ซึ่งส่งผลเสียหายต่อการเรียนรู้ของนักเรียนในภาพรวมเป็นอย่างมาก และปัญหาเชิงโครงสร้างแบบนี้ เป็นรากแก้วสำคัญของการลดทอนคุณภาพทางการศึกษา ที่เราจำเป็นต้องหาทางแก้ไขโดยเร็ว

 

2. ปัญหาของครูที่เชื่อมั่นในวิธีการสอนแบบเดิม และไม่คิดจะเปลี่ยน ด้วยความตระหนักส่วนตัวว่า หน้าที่สำคัญของครู คือ การให้ข้อมูล หลักการ แนวคิดทฤษฎี ให้ครบตามที่ สพฐ. กำหนด ผ่านการ “บรรยาย”

 

จากนั้นก็ให้โจทย์การบ้านต่อนักเรียน เพื่อให้ทำมาส่งเป็นรายบุคคล หรือรายกลุ่มก็ตาม แล้วครูก็ตรวจการบ้านเหล่านั้นตามคำเฉลยที่ สพฐ. ได้ให้ไว้ ก่อนที่จะให้คะแนนนักเรียน โดยไม่ได้บอกกับนักเรียนว่าคำตอบ และวิธีการแก้โจทย์ปัญหาของนักเรียน ถูกหรือผิดในขั้นตอนไหน เพราะอะไร

 

ซึ่งความเชื่อและกระบวนการดำเนินการของครูในลักษณะเช่นนี้ เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เพราะผลลัพธ์ที่นักเรียนได้รับจะเป็นแค่เพียง “คะแนน” ไม่ใช่ “การเรียนรู้” ที่มีคุณภาพตามหลักสากลทั่วไป

 

ปัญหา 2 ประเด็นนี้ ถือเป็นอุปสรรคพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งปิดกั้นการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนมากว่า 20 ปี และมีทีท่าจะยาวนานมากไปกว่านี้ ถ้าทาง "สพฐ.-ครู" ไม่ยอมนำข้อเสนอแนะของผมทั้ง 5 ข้อไปพิจารณา และแก้ไข คือ

 

1. ลดการบรรยายในชั้นเรียน เพิ่มการคิดวิเคราะห์ และการอธิบายให้มากขึ้น

2. ลดสาระวิชาที่ไม่จำเป็นของ สพฐ. เพิ่มสาระวิชาจากบริบทชีวิตจริงของนักเรียน

3. ลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียน

4. ลดการสอบตามเกณฑ์ เพิ่มความใส่ใจของครูในการตรวจการบ้านนักเรียน

และ 5. ลดคำสั่งหรือนโยบาย สพฐ. ที่ครูจำต้องปฏิบัติ เพิ่มเวลาครูให้กับนักเรียน

 

ถ้า สพฐ.และครู ปฏิบัติตาม 5 ข้อนี้แล้ว ผมมั่นใจว่า คุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนจะดีขึ้น และครูจะภูมิใจกับการเรียนการสอนตามวิชาชีพครูของตนเอง และ สพฐ. จะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพการศึกษาของประเทศ โดยไม่ต้องอาศัยกฎหมายปฏิรูปการศึกษาที่พยายามแก้ไขกันอยู่ในขณะนี้เลย

 

#ปฏิรูปการศึกษา

#กนกวงษ์ตระหง่าน

CR : กนก วงษ์ตระหง่าน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ