
รอง โฆษก ตร. ยัน กทม.เปิด "ศูนย์ฉีดวัคซีน" โควิดแก่ต่างชาติเพิ่ม เป็นความจริง
รอง โฆษก ตร. เผย กรณี ได้รับการยืนยันข้อมูลว่า กทม. เปิด "ศูนย์ฉีดวัคซีน" ป้องกันโควิด 19 ให้บริการประชาชนทุกกลุ่มทุกสัญชาติ เป็นความจริง
วันที่ 21 พ.ย. 64 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการยืนยันข้อมูลว่าเป็นข่าวจริง เพิ่มเติม 1 กรณีคือ
กรณีที่มีการนำเสนอข่าวสารในประเด็นเรื่อง กทม. เปิดศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้บริการประชาชนทุกกลุ่มทุกสัญชาติ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง
รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายประกาศเดินหน้าเปิดประเทศแบบปลอดภัย (Smart Entry) เช่น มาตรการ SHA+ และ COVID Free Setting หรือการตรวจ ATK เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กำหนดกรุงเทพมหานคร โดยพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงมอบนโยบายให้สำนักอนามัย และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กรุงเทพมหานคร ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง ซึ่งได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 64 เพื่อให้บริการวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชนทุกกลุ่มทุกสัญชาติ ที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน ดังนี้
เข็มที่ 1 สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
เข็มที่ 2 สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดใดก็ตามมาแล้ว 1 เข็ม จะต้องเว้นระยะห่างระหว่างเข็ม ตามกำหนดของชนิดวัคซีนเข็มแรก
เข็มที่ 3 สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 2 เข็ม ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือตามที่ได้รับการจัดสรร และเข็มกระตุ้นหลังติดเชื้อ สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และรักษาหายแล้ว 1 เดือนขึ้นไป ทั้งนี้ศูนย์ฉีดวัคซีนฯ ดังกล่าว สามารถรองรับผู้รับบริการได้ประมาณวันละ 2,000 คน/วัน โดยแบ่งช่องทางการรับวัคซีน 2 ช่องทาง ดังนี้
- ช่องทางที่ 1 เป็นการนัดหมายแบบองค์กร (Group vaccination) เช่น กลุ่มพนักงาน จากร้านหรือผู้ประกอบการขนาดเล็ก กลุ่มคนงานจากแคมป์ก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันจำนวนของผู้มารับบริการฉีดวัคซีน ในลักษณะของการนัดหมายแบบองค์กร (Group vaccination) มียอดสะสมรวมทั้งสิ้น 6,832 คน เป็นคนไทย จำนวน 3,152 คน และเป็นคนต่างชาติ อาทิ เมียนมา กัมพูชา และลาว จำนวน 3,680 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 17 พ.ย. 64 เวลา 18.00 น.)
- ช่องทางที่ 2 เป็นการนัดหมายผ่าน “แอป QueQ” สำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนจองคิวรับวัคซีน ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย. 64 สำหรับกลุ่มนี้จะเริ่มเปิดให้บริการฉีดวัคซีนในวันที่ 20 พ.ย. 64 เป็นต้นไป โดยมีขั้นตอนการลงทะเบียน ดังนี้
1. สแกน QR Code เพื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน QueQ
2. เข้าแอปพลิเคชัน QueQ เลือก “บริการสาธารณะ”
3. เลือกสถานที่เข้ารับบริการ “กรุงเทพฯ เมืองยิ้ม ปลอดโรคโควิด19 อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง”
4. กรอกเลขบัตรประชาชน/เลขหนังสือเดินทาง กดต่อไป
5. เลือกวันที่รับบริการ และเวลาที่ต้องการ กดยืนยัน
ทั้งนี้หลังจากเริ่มเปิดลงทะเบียนจองคิวนัดหมายผ่าน “แอป QueQ” มีผู้สนใจจองคิวเข้ารับการฉีดวัคซีน จำนวนกว่า 300 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 18 พ.ย. 64 เวลา 11.00 น.) โดยระหว่างนี้ มีประชาชนทยอยเข้าระบบลงทะเบียนจองคิวการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัยได้ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 (Pfizer) เข็มที่ 1 สำหรับเด็กที่มีอายุ 12-18 ปี และพักอาศัยในกรุงเทพมหานคร ทั้งที่อยู่ในระบบการศึกษา และนอกระบบการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาแบบ Home School ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน ซึ่งเปิดลงทะเบียนออนไลน์ผ่าน Google form ระหว่างวันที่ 15-17 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา กำหนดวันให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 1 ระหว่างวันที่ 17-19 พ.ย. 64 เข็มที่ 2 ระหว่างวันที่ 8-10 ธ.ค. 64 โดยวันที่ 17 พ.ย. 64 เป็นวันแรกในการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 (Pfizer) เข็มที่ 1 ให้แก่เด็กที่มีอายุ 12-18 ปี ที่ลงทะเบียนออนไลน์ผ่าน Google Form จำนวน 545 คน โดยมีคณะผู้บริหารสำนักอนามัย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กรุงเทพมหานคร บริเวณอาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง
ทั้งนี้สำนักอนามัยขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้ารับบริการฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กรุงเทพมหานคร ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง โดยนัดหมายการรับบริการวัคซีนตามช่องทางที่กำหนด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทร. 0 2203 2883 ในวันและเวลาราชการ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.prbangkok.com หรือโทร 0-2221-2141-69
รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตข่าวปลอม สร้างข่าวบิดเบือน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนสับสน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป
ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบข้อมูลการกระทำผิด สามารถแจ้งเบาะแสข่าวผ่าน
5 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com, เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter, ช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 และสายด่วน 1599 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ