คู่บ่าวสาว นามสกุลเดียวกัน ขอ "จดทะเบียนสมรส" สุดท้ายถึงบางอ้อ
สร้างรอยยิ้มแห่งความดีใจ ได้จดใบทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย สร้างรอยยิ้มแห่งความรักไปทั่วห้องทะเบียนที่ว่าการอำเภออุ้มผาง
เมื่อวานนี้ (18 พ.ย.64) ที่ทำการปกครองอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก หรือที่ว่าการอำเภออุ้มผาง ซึ่งเป็นอำเภอเดียว ของจังหวัดตาก ที่ตั้งอยู่บนดอยสูง ระหว่างที่นายรัตนกุล สังขศิลา ปลัดอำเภออุ้มผาง ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตรประจำอำเภออุ้มผาง ให้บริการประชาชน ได้มีชายหญิงวัยกลางคน พร้อมญาติผู้ใหญ่และผู้ตามตามอีกหลายคน โดยชายหญิงทั้งสองคน ได้แสดงความจำนงว่า จะมาขอจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมาย
แต่ที่เจ้าหน้าที่แปลกใจ พบว่าบัตรประจำประชาชนของคู่สมรสทั้งสองคน กับมีนามสกุลเดียวกัน ฝ่ายชายชื่อนายโจมาไน กาญจนเจริญชัย อายุ 42 ปี ฝ่ายหญิงชื่อ นางสาวหน่อไม้ กาญจนเจริญชัย อายุ 43 ปี ทั้งคู่เป็นชาวบ้าน บ้านแม่จันทะ หมู่ที่ 8 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
ปลัดอำเภออุ้มผางจึงต้องเรียกสอบพยานแวดล้อม เป็นผู้ใหญ่บ้านและพยานบุคคลอื่นๆ อีกหลายคน เนื่องจากเกรงว่าคู่บ่าวสาวทั้งสองอาจจะจะเป็นพี่น้องร่วมสายเลือดเดียวกัน อันเป็นข้อต้องห้ามในการจดทะเบียนสมรส จนเจ้าหน้าที่ประจำห้องทะเบียนของอำเภออุ้มผาง ต้องทำการสอบถามหาที่มาที่ไป ของการที่ทั้งสองมีนามสกุลเหมือนกัน และอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน
ซึ่งนายโจมาไน กาญจนเจริญชัย บอกกับเจ้าหน้าที่ว่า ตนเองเกิดและโตมาในหมู่บ้านแม่จันทะ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ซึ่งภรรยาของตนเองชื่อ น.ส.หน่อไม้ กาญจนเจริญชัย ก็เกิดในหมู่บ้านเดียวกัน ซึ่งหมู่บ้านอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ การเดินทางยากลำบาก ปัจจุบันตนเอง และภรรยาได้อยู่ร่วมครอบครัวเดียวกันถึง 25 ปี และทั้งสองใช้นามสกุล จากผู้นำหมู่บ้านมาแต่อดีต ก็ไม่ได้คิดว่าจะมีปัญหาอะไร และไม่ค่อยได้เดินทางมาติดต่อทางราชการในเมือง เนื่องจากลำบากในการเดินทาง จนวันนี้ต้องมา ขอจดทะเบียนสมรส เนื่องจากบุตรชาย ต้องใช้เอกสารของพ่อแม่ ใช้ในการศึกษาต่อ
นายรัตนกุล สังขศิลา ปลัดอำเภออุ้มผางหัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตร กล่าวว่า ทั้งสองมีบ้านพักอยู่กลางป่าบนดอยสูง การเดินทางยากลำบากในทุกฤดูกาล และห่างจากที่ว่าการอำเภออุ้มผาง ไกลกว่า100 กิโลเมตร ดอยติดแนวชายแดนไทย-เมียนมา
และได้ข้อเท็จจริงว่า สาเหตุที่ทั้งสองมีชื่อนามสกุลเดียวกันนั้น เนื่องจากตอนแรกเกิด ได้รับการเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้าน ซึ่งครั้งแรกทั้งคู่ได้ขอใช้ชื่อนามสกุล ร่วมกับผู้นำหมู่บ้านใช้กันมานานหลายสิบปี และทั้งสองแต่งงานตามประเพณีชนเผ่า แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย จนมีบุตร และบุตรชายต้องใช้เอกสารการสมรสของคู่บิดามารดา เพื่อรับรองบุตรตามกฎหมาย ทั้งสองจึงตัดสินใจเดินทางลงดอย ใช้เวลานานนับวัน เพื่อมาขอนายทะเบียน ในการจดทะเบียนสมรส
ซึ่งจากการสอบสวนพยานหลายปาก ที่คู่สมรสพามาด้วยนั้นิให้การสอดคล้องกันและสามารถพิสูจน์ได้ว่า ทั้งสองคู่สมรสไม่ได้เป็น พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน และไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดเดียวกัน ทางนายทะเบียนอำเภออุ้มผางจึงได้ทำการจดทะเบียนสมรส ให้ทั้งสองเป็นคู่สามีภรรยากันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สร้างรอยยิ้มแห่งความดีใจให้ทั้งสอง ได้สมหวังมีใบทะเบียนสมรสแบบถูกต้องตามกฎหมาย
ภาพ/ข่าว ไพฑูรย์ สุขแว่น ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.ตาก