ข่าว

ยัน "ประกันรายได้ข้าว" ประโยชน์ตกที่ชาวนา "ส่วนต่างจ่ายตรงบัญชีเกษตรกร"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทีมจุรินทร์ เคลียร์ชัด "จ่ายชดเชยส่วนต่างข้าว" เป็นนโยบายรัฐบาล ประกันรายได้ข้าวสร้างหลักประกัน พร้อมส่งเสริมชาวนาพัฒนาคุณภาพ สร้างความยั่งยืน

เมื่อวันที่ 17 พ.ย.64   นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า  การประกันรายได้ข้าวผลการผลิตปีที่3 ฤดูกาลปลูก 2564 / 2565 การเก็บเกี่ยวเริ่มตั้งแต่ 15 ตุลาคมเป็นต้นไปนั้น กรอบวงเงินงบประมาณรวมทั้งหมด 33 งวด

 

ขณะนี้ชาวนากำลังเก็บเกี่ยวงวดที่ 1-2-3 การแจ้งเก็บเกี่ยวของชาวนาเป็นขั้นตอนที่ลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากการปลูกข้าวนั้นไม่ได้พร้อมกันแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวมากที่สุด

 

โดยสรุปคือ การประกันรายได้จ่ายหลังการประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงโดยคณะอนุกรรมการ  คือกรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้ได้มีการประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงไป คือ งวดที่ 1-5

 

ส่วนการขออนุมัติกรอบวงเงินโครงการนี้นั้น  นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำเข้าอนุมัติจากทนบข.หรือคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติซึ่งมีนายกเป็นประธานมาแล้ว จากนั้นที่เหลือคือการนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อการอนุมัติการใช้เงินเป็นรายงวด ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็เคาะงวดที่1-2ไปแล้ว การนำเข้าครม.นั้นเป็นความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณเพื่อให้ถูกต้องตามกฎระเบียบกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ เกี่ยวกับการใช้เงินงบประมาณ 

 

ขณะนี้  ข้าวที่เกี่ยวเสร็จแล้วคืองวดที่1-2 เงินเข้าบัญชี ธกส. ของเกษตรกรโดยตรงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนงวดใดที่ประกาศราคาเกณฑ์กลางไปแล้วตามที่ระบุก็จะทยอยจ่ายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีทยอยอนุมัติเช่นกัน

 

นโยบายแถลงต่อรัฐสภาซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาลนี้ จ่ายชดเชยส่วนต่างเฉพาะที่ราคาพืชผลตกต่ำซึ่งตอนนี้มีเฉพาะข้าวเนื่องจากพืชชนิดอื่นที่อยู่ในโครงการประกันรายได้ทั้งยางพาราปาล์มน้ำมันข้าวโพดและมันสำปะหลังราคาสูงกว่ารายได้ที่ประกันไว้ จึงไม่ต้องจ่ายชดเชยส่วนต่างไม่เป็นภาระงบประมาณ ที่ต้องทำแบบนี้เพราะเราใช้เงินงบประมาณเราไม่ได้ใช้ในก้อนเงินกู้เหมือนกับโครงการอื่น

 

ที่ปรึกษารมว.พาณิชย์  กล่าวว่า  แต่เราต้องเข้าใจว่าเราดูแลชาวนาร่วม 5 ล้านครัวเรือนให้กับประเทศนี้และมาดูแลหลังจากโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลเก่ายังมีค้างสต๊อกอยู่ ขณะเดียวกันยังมีสต๊อกเก่าที่เป็น GtoGกับประเทศจีนค้างอยู่เกือบ3แสนตัน ประกอบกับเกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิดทั่วโลกทำให้ผู้ส่งออกขาดตู้คอนเทนเนอร์ในการส่งลงเรือเป็นอุปสรรคมาตลอดร่วม 2 ปี มาบวกกับสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งในช่วงต้นปีทำให้ราคาในตลาดโลกข้าวของเราแพงกว่าที่อื่น

 

แต่ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานี้การขอใบอนุญาตส่งออกเพิ่มมากขึ้นจึงมีแนวโน้มว่าเราจะสามารถผลักดันการส่งออกข้าวได้มากกว่าเดิมและเชื่อว่าจะสามารถทำได้ตามเป้ากว่า 6 ล้านตันในปีนี้ 

 

นางมัลลิกา  กล่าวด้วยว่า   ผลผลิตข้าวในประเทศไทยเราเป็นข้าวเปลือกผลิตได้ประมาณ 30 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้แปลงเป็นข้าวสารประมาณ 20 ล้านตัน ปกติเราบริโภคภายในประเทศ 10 ล้านตัน และต้องทำการส่งออกโดยประมาณ 10 ล้านตัน แต่ปีที่แล้วเราส่งออกได้ประมาณ 7 ล้านตัน

 

คราวนี้จึงมาดูว่าสองปีที่ผ่านมาเราเจออะไรบ้าง  การบริโภคภายในประเทศของเรานักท่องเที่ยวหายไป 40 ล้านคน  ปกติการท่องเที่ยวเราดีมีคนหมุนเวียนเที่ยวและกินในประเทศเรา 40 ล้านคน  ร้านอาหารเปิดกันหมดแต่ตอนนี้ผ่านมาสองปีการท่องเที่ยวเป็นศูนย์ นักท่องเที่ยวเป็นศูนย์ ก็ลองช่วยกันคิดว่าเราเจออุปสรรคอะไรบ้าง เรายอมรับว่าข้าวราคาตกต่ำแต่ความรับผิดชอบของรัฐบาลคือรับผิดชอบดูแลประชาชนด้วยกลไกของการบริหารของรัฐนั่นคือนโยบายที่ผ่านการแถลงต่อรัฐสภาคือการประกันรายได้เมื่อราคาตกก็จ่ายเงินเข้ากระเป๋าเกษตรกรกระเป๋าหนึ่งของเขา แต่ถ้าราคาสูงก็ไม่ต้องจ่ายอะไรเลยไม่เป็นภาระงบประมาณ 

 

"ทำไมเราจะดูแลชาวนาไม่ได้หล่ะ  ในเมื่อเงินที่เข้ากระเป๋าชาวนาซึ่งเป็นกระเป๋าที่เรียกว่าชดเชยส่วนต่างนั้นก็เป็นเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐศาสตร์ฐานรากของประเทศ ชาวนาร่วม 5 ล้านครัวเรือน ได้รับเงินไปเงินนั้นก็ถูกจับจ่ายใช้สอยเขาไม่ได้ไปเอาไปเก็บ เงินนั้นเมื่อถูกจับจ่ายหมุนเวียนอยู่ในระบบ  เมื่อหมุนไป 4-5 รอบก็เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านประชาชนฐานรากนั่นหล่ะ เป็นการหมุนเวียนเงินแบะช่วงภาวะวิกฤตเช่นนี้ก็เป็นการช่วยพยุงสภาวะเศรษฐกิจของประเทศเราต้องคิดถึงจุดนี้ด้วย" นางมัลลิกา กล่าว 

 

ที่สำคัญที่สุดเลยก็คือเม็ดเงินส่งตรงเข้าบัญชีของเกษตรกรไม่มีหายตกหล่น   ถือเป็นโครงการที่รักษากลไกด้านการตลาดของราคาสินค้าเกษตร   ขณะเดียวกันก็มีความสุจริตโปร่งใสเป็นธรรมต่อเกษตรกรสิ่งเดียวที่ท้าทายคือความสามารถของรัฐบาลในภาวะวิกฤตที่จะบริหารให้ราคาสูงกว่าได้อย่างไรสู้กับตลาดโลก  ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นยุทธศาสตร์ทางเราก็ได้ทำยุทธศาสตร์ข้าวแห่งชาติเพื่อปรับปรุงพันธุ์ปรับปรุงคุณภาพเพิ่มตลาดบุกทุกตลาด ทุกฝ่ายกำลังทำงานอย่างเข็มแข็งทั้งภาครัฐและเอกชน 

 

อย่างไรก็ตาม  นางมัลลิกา กล่าวว่า  มีคนถามเรื่องเกี่ยวกับคุณภาพของข้าว สงสัยเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาและความยั่งยืนแสดงว่าถ้าไม่รู้จักโครงการประกันรายได้อย่างถ่องแท้ โครงการนี้นอกจากจะรักษากลไกตลาดแล้วยังส่งเสริมให้ชาวนาผลิตข้าวคุณภาพเพราะเขาต้องเอาข้าวไปขายด้วยตนเองอีกกระเป๋าหนึ่ง ไม่ใช่พึ่งพารัฐอย่างเดียว ชาวนาและเกษตรกรทั้งหมดรู้เรื่องนี้ดีและปัจจุบันกำลังพัฒนาคุณภาพถ้าหากไม่มีปัจจัยที่เกินจะควบคุมได้มาแทรกแซงราคาก็จะสูงขึ้นโดยที่ไม่ต้องพึ่งพารัฐเช่นกัน

 

นี่คือการสร้างศักยภาพที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกร ระยะยาวภายใต้กลไกนี้ชาวนาสามารถยืนได้ด้วยขาตัวเองด้วยผลผลิตที่มีคุณภาพและด้วยศาสตร์ของการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ตรงตามความต้องการของตลาดโลก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ