โหวตคว่ำร่างรธน.ฉบับประชาชน เสียงส่วนใหญ่ที่ประชุมสภาไม่เห็นชอบ
โหวตคว่ำร่างรธน.ฉบับประชาชน ที่ประชุมรัฐสภาเสียงส่วนใหญ่มีมติไม่เห็นชอบให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล และคณะเป็นตัวแทนผู้ที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรธน.เข้ามาชี้แจงด้วยการกล่าวอ้างว่าเป็นการรื้อระบอบประยุทธ์
ที่ประชุมร่วมรัฐสภาโหวตลงมติไม่เห็นชอบ ร่างแก้ไขรธน.ฉบับประชาชน ที่มีตัวแทนกลุ่ม Re-Solution จำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า, นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (ConLab), นายณัชปกร นามเมือง จนท.โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว แกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) เข้ามาชี้แจง พร้อมกับอภิปรายเป็นร่างรธน.รื้อระบอบประยุทธ์ แต่ในที่สุด ร่างรธน.ฉบับดังกล่าว ก็ได้รับการโหวตจากที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ ไม่รับหลักการ ทำให้ ร่างรธน.รื้อระบอบประยุทธ์ ตามที่กลุ่มกล่าวอ้าง ไม่ได้ไปต่อ
เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ซึ่งมีระเบียบวาระการประชุมที่สำคัญ คือ การลงคะแนนเสียงเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ พ.ศ.... ในวาระแรก ซึ่งเป็นการลงคะแนนแบบขานชื่อทีละคน โดยการลงคะแนนเสียงในวาระแรก ขั้นรับหลักการนี้ ต้องได้เสียงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 375 เสียง และในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. หรือ 84 คน
ข้อมูล ณ วันที่ 9 พ.ย. 64 ระบุว่า สมาชิกรัฐสภามีทั้งสิ้น 723 คน แบ่งเป็น สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 248 คน (เดิม 500 คน แต่เพิ่งลาออกไป 2 คน) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้) 475 คน โดยองค์ประชุมกึ่งหนึ่งของทั้ง ส.ว.และส.ว. (จากทั้งสิ้น 723 คน) จะต้องมีเสียงกึ่งหนึ่งทั้งสิ้น 362 คน ทั้งนี้ ในส่วนของ ส.ส.นั้น มีสมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 475 คน องค์ประชุมกึ่งหนึ่งของส.ส.คือ 238 คน
ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานเบื้องต้น เมื่อเวลา 11.30 น. ภายหลังจากที่มีการขานชื่อสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดเพื่อลงมติ ผลปรากฏว่า ที่ประชุมรัฐสภาเสียงส่วนใหญ่หรือเกินกึ่งหนึ่งลงมติไม่เห็นชอบให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ขณะที่สว. มีมติรับหลักการร่างแก้ไขรธน.ไม่ถึงหนึ่งในสามหรือ 84 คน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว
ต่อมาเวลา 12.08 น. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาได้แจ้งผลการลงมติ ว่า ผลการนับคะแนนปรากฎว่าสมาชิกรัฐสภา (ส.ว.และส.ส.) มีมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชนทั้งสิ้น 473 เสียง ส่วนที่ลงมติรับหลักการมีเพียง 206 เสียง และงดออกเสียงทั้งสิ้น 6 เสียง จากสมาชิกที่มาลงคะแนนทั้งหมด 723 เสียง โดยพบว่าเสียงผู้มาลงคะแนน ทั้งในส่วนของเสียงส.ว. และเสียงของ ส.ส. รับหลักกการน้อยกว่า 362 เสียง คือน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา ทำให้ที่ประชุมมีมติไม่รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (คว่ำร่างตั้งแต่วาระแรก) จากนั้นนายชวน ได้สั่งปิดการประชุมร่วมรัฐสภาในเวลา 12.11 น.
ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ (16 พ.ย.) สมาชิกรัฐสภา ซึ่งประกอบไปด้วย ส.ส.และส.ว. และตัวแทนภาคประชาชน ได้ร่วมกันการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ...ฉบับประชาชน โดยได้เริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 09.00 น. มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
ในส่วนของตัวแทนภาคประชาชนที่มีประชาชนร่วมลงชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญกว่า 1.3 แสนคนนั้น มีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และในฐานะตัวแทนกลุ่ม Re-Solution และนายปิยะบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เป็นผู้เสนอและอภิปรายถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยเน้นย้ำแก้ไขใน 4 หลักการคือ
1.ล้มวุฒิสภา โดยให้ ส.ว.ชุดปัจจุบัน 250 คน ที่มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ ด้วย พ้นสภาพทันทีหลังมีการแก้ไข รธน.สำเร็จแล้วให้ใช้ระบบสภาเดี่ยว มีแต่สภาผู้แทนราษฎร ไม่ต้องมีวุฒิสภาอีกต่อไป
2.โละศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบันทั้งหมด ในลักษณะเซตซีโร่หมดแล้วนับหนึ่งใหม่ แก้ไขเรื่องที่มา-กระบวนการคัดเลือก-เพิ่มระบบตรวจสอบการใช้อำนาจ เช่น เรื่องที่มาตุลาการศาล รธน. ก็ให้สภาฯ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมีอำนาจในการเสนอรายชื่อบุคคลเป็นตุลาการศาล รธน.ได้ฝ่ายละ 3 คน โดยให้สภาฯ เป็นผู้ลงมติเห็นชอบรายชื่อ ซึ่งประเด็นดังกล่าวน่าจะโดนโต้แย้งว่า จะเปิดช่องให้นักการเมืองเข้าแทรกแซงครอบงำศาล รธน.และองค์กรอิสระอื่น ๆ ได้ จนอาจเกิดวิกฤตศาล รธน.และองค์กรอิสระขึ้นอีกครั้งแบบในยุคระบอบทักษิณ
3.ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ โดยเสนอให้ตัดทิ้งมาตรา 257-261 ออกทั้งหมด และ
4.ล้างมรดกรัฐประหารจากยุค คสช. โดยให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 เพื่อทำให้คำสั่ง คสช.และหัวหน้า คสช.มีผลเป็นโมฆะทั้งหมด ที่หากทำสำเร็จ ก็อาจเป็นช่องทางให้นำไปสู่การหาช่องเช็กบิลขั้วอำนาจเก่า คสช.ได้ ดังนั้นจึงหวังว่า ส.ว.จะผ่านวาระแรกให้ โดยเห็นแก่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นหลัก
ภายหลังจากที่ที่ประชุมรัฐสภาได้อภิปรายกันกว่า 17 ชั่วโมง ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานในที่ประชุมได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 01.39 น. และนัดให้สมาชิกรัฐสภามาร่วมลงมติเพื่อผ่านร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ พ.ศ.... ในเวลา 10.00 น. ของวันที่ 17 พ.ย. 2564