กรมการข้าวได้จัดสรรงบประมาณให้ศูนย์วิจัยข้าวร้อยเอ็ดเพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมระบบ "การเกษตรแบบแปลงใหญ่" ในพื้นที่จังหวัดยโสธร การดำเนินงานมุ่งเน้นการรวมกลุ่มร่วมกันวางแผนและบริหารจัดการระบบการผลิตข้าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สนับสนุนเครื่องหยอดข้าว เครื่องทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ กระสอบบรรจุ สุ่มตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์
จัดเวทีเรียนรู้ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว และการผลิตข้าวตามมาตรฐาน GAP จัดทำแปลงเรียนรู้และสาธิตการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว แปลงเรียนรู้และสาธิตการลดต้นทุนการผลิตข้าว ใช้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ การลดต้นทุนและการผลิตข้าวคุณภาพดี ก่อให้เกิดการร่วมมือในการผลิตของสมาชิก ผลผลิตมีคุณภาพ องค์กรชาวนามีความเข้มแข็งขึ้น ปัจจัยสนับสนุนต่อการดำเนินงานนั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาการผลิตข้าวเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ โดยมีการรวมกลุ่มชาวนาผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี และกลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวคุณภาพดีที่มีการบริหารจัดการในรูปแบบเชิงอุตสาหกรรม
โดยมีการพัฒนากรรมวิธีการปลูกข้าวแบบประณีต มีการนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิตของชาวนาที่ยังสูงอยู่ สามารถผลิตข้าวได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดี รวมทั้งต้องมีการเชื่อมโยงการตลาด สามารถขายได้ราคาสูงกว่าข้าวปกติทั่วไปในท้องตลาด
ทั้งนี้เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ชาวนามีการพัฒนาคุณภาพผลผลิตของตนเอง โดยมีการส่งเสริมแบบเน้นหนักในพื้นที่นาขนาดใหญ่ที่กลุ่มชาวนามีส่วนร่วมในการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ องค์กร ส่วนท้องถิ่น เอกชน และผู้ประกอบการค้าข้าวที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ การดำเนินกิจกรรมที่ครอบคลุมตามนโยบายของกรมการข้าว และยุทธศาสตร์ข้าวไทย
ซึ่งมีเป้าประสงค์ให้ชาวนาไทยผลิตข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตข้าวรวมทั้งประเทศที่สมดุลกับอุปสงค์ ผลผลิตต่อไร่สูงด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ผลผลิตข้าวมีคุณภาพ มีความปลอดภัยและมีมูลค่าสูง ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นและองค์กรชาวนามีความเข้มแข็ง และเพิ่มการบริหารจัดการและการตลาด
นางลัดดา พันธ์ศรี ประธานแปลงใหญ่ข้าวอินทรีย์ หมู่ ๙ ตำบลดงมะไฟ อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร เป็น "แปลงใหญ่" ที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแก้ไขปัญหาด้านการผลิตและการจัดการพร้อมเพิ่มศักยภาพในด้านการยกระดับสินค้าและการเชื่อมโยงการตลาด
ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน ๑๐๐ ราย พื้นที่ผลิตข้าว จำนวน ๑,๑๔๐ ไร่ มุ่งเน้นผลิตข้าวภายใต้ระบบข้าวอินทรีย์ ข้าวคุณภาพและเมล็ดพันธุ์ข้าว ปัจจุบันการดำเนินงานของกลุ่มประสบปัญหาในด้านผลผลิตตกต่ำและต้นทุนการผลิตสูง โดยสาเหตุของปัญหาเนื่องจากสภาพดินที่เสื่อมโทรมเพราะขาดการจัดการดินและปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ
การขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร สมาชิกในกลุ่มหลายครอบครัวเป็นผู้สูงวัย ลูกหลานบางส่วนที่เคยเป็นแรงงานในครัวเรือนได้เคลื่อนย้ายแรงงานไปประกอบอาชีพอื่น ๆ ทำให้ค่าแรงสูงและการขาดแคลนเทคโนโลยีเครื่องจักรการเกษตรเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต ส่งผลให้ค่าจ้างในการบริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรมีราคาสูง ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนเครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวผลผลิตทำให้ต้องรอรับการบริการเป็นระยะเวลานานทำให้ข้าวร่วงหล่นได้รับความเสียหาย ขาดแคลนเครื่องคัดเมล็ดพันธุ์เพื่อพัฒนาคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อใช้ในกลุ่ม
นายรัฐพงศ์ มีกูล นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยข้าวร้อยเอ็ด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยข้าวร้อยเอ็ดได้ดำเนินงานตามกิจกรรมในโครงการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จนถึง พ.ศ.2563 แม้สิ้นสุดโครงการแล้วก็ยังติดตามให้คำแนะนำการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มทุกปี ให้คำปรึกษากับทางกลุ่มด้านการผลิตข้าว การจัดการโรคแมลงศัตรูข้าวและการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว
นอกจากโครงการส่งเสริมระบบการ "เกษตรแบบแปลงใหญ่" ที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ทางศูนย์วิจัยข้าวร้อยเอ็ดยังร่วมดำเนินงานโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ในฐานะที่เป็นเจ้าของสินค้าแปลงใหญ่ในพื้นที่ เพื่อให้ข้อเสนอแนะ แนวทางการแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือ และสนับสนุนการดำเนินงาน โครงการให้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์
และเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ทางกลุ่มได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 2,999,956 บาท เพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตและลดต้นทุนการผลิตมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความหลากหลายมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาศักยภาพความเข้มแข็งในการบริหารจัดการแปลงใหญ่ โดยใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่ ต่อยอดด้านคุณภาพมาตรฐาน แปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม และเชื่อมโยงการตลาด และสร้างโอกาสในการเพิ่มคุณภาพผลผลิตและผลตอบแทนจากการผลิต การลดต้นทุนการผลิต รายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง