มาเซ็นชื่อเพื่อ สอนออนไลน์ ที่โรงเรียน เรื่องเล่าจาก ครูแดนไกล
โรงเรียนปิด แต่ครูถูกสั่งให้ สอนออนไลน์ ที่โรงเรียน ครูทุกคนต้องลงเวลาปฏิบัติราชการตามปกติ เหมือนเปิดเทอมจริง ตาม นโยบายห้องแอร์ คนทำไม่ได้คิด คนคิดไม่ได้ทำ เรื่องเล่าจาก ครูแดนไกล
“ครูแดนไกล” ขาดความพร้อมทั้งอุปกรณ์สื่อการเรียนสื่อการสอนออนไลน์ การเรียนออนไลน์สไตล์บ้านๆ จึงเกิดขึ้น
เมื่อผู้บริหารในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ณ สำนักงานเขตแห่งหนึ่ง มีนโยบาย ให้ข้าราชการครูทุกคน มาปฏิบัติงานตามปกติ ในช่วงเวลาที่โรงเรียนปิดเรียน และจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ ON LINE
ให้ข้าราชการครูทุกคนลงเวลาปฏิบัติราชการตามปกติ ทุกวัน ปฏิบัติงานเต็มวัน ดูแลความสะอาดของห้องเรียน บริเวณโรงเรียน และจัดเตรียมเอกสาร ห้องประชุม สรุปผลการจัดการเรียนการสอนในช่วงเวลาที่ผ่านมา พร้อมที่จะรับการนิเทศติดตามจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ตลอดเวลา
ก่อนหน้า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เคยชี้แจงว่า การจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)หรือโควิด-19 สพฐ. ได้กำหนดรูปแบบการเรียนการสอนไว้ 5 รูปแบบ ตามบริบท และความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียน
5 รูปแบบการเรียนการสอนตามบริบทและความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียนมีดังนี้
1. ON-AIR
2. ONLINE
3. ON–DEMAND
4. ON-HAND
5. ON–SITE
ไม่จำเป็นว่าโรงเรียนที่ปิดเรียน ต้องใช้การเรียนการสอนออนไลน์ เพียงอย่างเดียว
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาของการแต่งตั้งผู้บริหารการศึกษาในระดับพื้นที่การศึกษา ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนของผู้บริหารการศึกษาในระดับเขตพื้นที่การศึกษาหลายคน
หลายคนได้รับโอกาส ได้รับการแต่งตั้งเลื่อนระดับเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ซึ่งสิ่งที่ตามมา คือ การประเมินหลังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง จึงมีความจำเป็นต้อง แสดงผลงาน แสดงวิสัยทัศน์ ของผู้รับตำแหน่งใหม่ เพื่อที่จะส่งผลต่อการประเมิน
การมอบนโยบายของผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาจึงสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง แต่บางครั้งสิ่งที่มอบและสิ่งที่แสดงออกก็สามารถบ่งบอกตัวตนและความสามารถของผู้กำหนดนโยบาย สะท้อนถึงข้อความที่ว่า “คนทำไม่ได้คิด คนคิดไม่ได้ทำ”
การบริหารงานในลักษณะของการสั่งการ จากหน่วยงานระดับสูงไปยังหน่วยงานระดับปฏิบัติในระดับโรงเรียน จึงมีความสำคัญ ข้อมูล และข้อเท็จจริง ที่เจ้าหน้าที่ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือหน่วยงานที่สูงกว่า จึงมีความสำคัญต่อตัวผู้บริหาร
แต่ที่สำคัญที่สุด คือ วิสัยทัศน์และความสามารถของผู้ตัดสินสังการ หลายครั้งที่บุคลากรระดับผู้บริหารถูกมองว่า “นโยบายห้องแอร์” ขาดความเชื่อมโยงระหว่างความเป็นจริงกับนโยบาย
มีหลายโรงเรียนที่ “ครู” ต้องไปโรงเรียนทุกวัน ลงเวลาปฏิบัติราชการและอยู่ที่โรงเรียนจนครบเวลาที่ราชการกำหนด หรืออาจบอกแบบเห็นภาพชัดๆ ก็ คือ “มาเซ็นชื่อ เพื่อสอนออนไลน์ ที่โรงเรียน”
เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ไว้ว่างใจซึ่งกันและกัน หวาดระแวง จับผิด ที่สำคัญไม่เปิดโอกาส แม้กระทั่งจะให้ระดับผู้ปฏิบัติ คิด หรือ ทำ ด้วยตนเอง
ลืมไป วันนี้วันจันทร์ ขออนุญาตไปเตรียมเครื่องแบบข้าราชการ (ชุดสีกากี) ก่อนนะ ... ต้องรีบไปโรงเรียน
บทความโดย..ครูแดนไกล