ข่าว

ฝ่ายค้านเอกฉันท์รับ "ร่างแก้ไข รธน. ฉบับประชาชน"- นิโรธ ปัด พปชร. ตั้งธงคว่ำ

มติเอกฉันท์พรรคร่วมฝ่ายค้านรับหลักการ "ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" ด้านประธานวิปรัฐบาล ปัด พลังประชารัฐตั้งธงคว่ำ ส่วน นิกร จำนง เชื่อร่างแก้ไข รธน. ฉบับประชาชน คว่ำแน่ ยากจะได้เสียง ส.ว. หนุน เหตุเสนอยุบ ส.ว.

ที่พรรคเพื่อไทย หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้เผยถึงมติในที่ประชุมร่วมกัน โดยเน้นไปที่การประชุมรัฐสภาร่วม ว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติร่วมกันในการรับร่าง "แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน" ที่จะประชุมร่วมกันในวันที่ 16 พฤศจิกายน ได้กำหนดแนวทางอภิปรายรวม 18 ชม. พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าทุกพรรคควรรับหลักการวาระที่ 1 และต้องอภิปรายตามประเด็นที่สนใจ

 

นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติร่วมกันอีก 6 ประเด็น คือ หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจและทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และต้องยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ และปฎิรูปประเทศ / ปรับโครงสร้างระบบรัฐสภาให้เหลือแต่ ส.ส. / กลไกในการตรวจสอบอำนาจอธิปไตยของประชาชนให้มีผู้ตรวจการของสภา ศาลทหาร ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ปรับหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ การยกเลิกการสืบทอดอำนาจ ให้มีผลตาม ม.48 ส่งผลต่อ ม.279 สร้างกลไกแก้ไขให้เหลือแค่รัฐสภาเดียว ส่วนอำนาจและหน้าที่ส.ส.ในการแก้รัฐธรรมนูญ และต้องมีความเข้มข้นมากขึ้น เสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวน ส.ส.

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ฝ่ายค้านให้ความสำคัญกับสถานการณ์บ้านเมือง และห่วงใยต่อเหตุการณ์หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีแกนนำราษฎร ชุมนุมเข้าข่ายการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ซึ่งหากเป็นไปโดยมิชอบ เป็นเครื่องมือทางการเมือง จะเกิดความแตกแยกและวุ่นวาย ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งม็อบ และการยุบพรรค ต้องมีความชอบธรรม

 

ส่วนตัวยอมรับเป็นห่วงในการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น และขอตำหนิผู้กระทำ ตนห่วงใยอนาคตของผู้ชุมนุมที่เป็นอนาคตของประเทศ ขอให้ทุกฝ่ายใช้เวทีในการพูดคุยกัน ในการหาทางออกให้ประเทศ เพื่อปลดชนวนความขัดแย้งทั้งหมด

 

ทางด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การลงมติวาระที่ 1 ใช้การขานชื่อทีละคน และการประชุมสภาฯ วันที่ 17 พฤศจิกายน พรรคร่วมรัฐบาลต้องเห็นความสำคัญของกฎหมายภาคประชาชน ต้องรับหลักการในวาระที่ 1 ส่วนวาระอื่น ๆ แปรญัตติได้ ส.ส. ควรเข้าใจเพราะประชาชนจับตาอยู่ 

ขณะเดียวกันนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เนื่องจากตอนนี้มี ส.ว. หลายคนที่ออกมาให้ความเห็นในเชิงบิดเบือนเนื้อหาสาระ"ร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยประชาชน"

 

ประเด็นแรก คือ มีการกล่าวหาว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มุ่งล้ม-เลิก-ล้าง-โละ ล้างการตรวจสอบ แต่ความจริงเราต้องการให้เกิดประชาธิไตยมากขึ้น สามารถตรวจสอบองค์กรอิสระ ศาล ตุลาการ กองทัพ ต้องถ่วงดุลโดยประชาชน และผู้ตรวจสอบไม่ผิด

 

ประเด็นที่สอง  โจมตีว่าเกิดการรวมอำนาจไปที่ ส.ส. แต่ความจริงสนับสนุนให้อำนาจของประชาชนสูงสุดอย่างเป็นรูปธรรมจึงต้องสนับสนุนรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน

 

ส่วนความรุนแรงในการชุมนุม เมื่อวานนี้ (14 พ.ย.) ตนอยากจะย้ำรัฐบาลและตำรวจ ควรกระตือรือร้นในการสอบสวนข้อเท็จจริง เอาคนกระทำผิดที่ใช้กระสุนจริง มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็วที่สุดเพื่อกระบวนการทางกฎหมายจะไม่วิกฤตไปกว่านี้ อย่าเอาแต่ป้ายสีประชาชนหรือหาว่าประชาชนต้องการล้มล้าง

 

นิโรธ ปัด พปชร. ตั้งธงคว่ำร่างแก้ รธน. ฉบับประชาชน รอถก ส.ส.พรรค พรุ่งนี้เช้า 


นายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงการพิจารณา"ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" วันพรุ่งนี้ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า พรรคพลังประชารัฐตั้งธงจะคว่ำร่างดังกล่าวว่า ทางพรรคพลังประชารัฐได้เน้นย้ำว่าจะต้องให้ความสำคัญกับกฎหมายที่ประชาชนเสนอเข้าสู่สภา

 

โดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค ได้ให้สมาชิกพรรคไปศึกษาร่างกฎหมายดังกล่าวเพราะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และได้มอบหมายให้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคและฝ่ายกฎหมาย นำเสนอรายละเอียดร่างดังกล่าวต่อสมาชิกพรรคโดยเฉพาะบางประเด็นแหลมคม เพื่อให้สมาชิกได้อภิปรายในสภา

 

นายนิโรธ ยังกล่าวย้ำอีกว่า พล.อ.ประวิตร ได้ปรึกษาเรื่องนี้กับนายกรัฐมนตรี และ ครม. ด้วยว่า รัฐบาลควรให้ความสนใจกฎหมายฉบับนี้ เพราะเป็นกฎหมายของภาคประชาชนถึงแม้ว่ากฎหมายนี้จะเป็นเรื่องของสภาโดยตรง ไม่เกี่ยวกับฝ่ายบริหาร แต่รัฐบาลก็ควรให้ความสนใจรับฟังในสภาซึ่งนายกฯได้มอบหมายให้นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มารับฟังแทน เพราะติดภารกิจ ครม.ที่ จ.กระบี่ ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าพรรคพลังประชารัฐ ตั้งธงจะคว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้ ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง โดย พล.อ ประวิตร ได้สั่งการให้ประชุมนำผลประชุมวิปรัฐบาลวันนี้ไปหารือในที่ประชุมพรรคเช้าวันพรุ่งนี้

 

ส่วนกรณีนายไพบูลย์ ไม่เห็นด้วยกับร่างฉบับนี้ นายนิโรธ กล่าวว่า นายไพบูลย์ น่าจะได้ศึกษารายละเอียดแล้วและเห็นว่ามีประเด็นแหลมคม จึงให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับพรรคพลังประชารัฐ 

 

สำหรับข้อดี ข้อเสีย หรือข้อกังวลกับร่างกฏหมายฉบับนี้นั้น นายนิโรธ บอกว่า ตนไม่ได้เข้าประชุมด้วยกับ หัวหน้าพรรค เลขาฯ และกรรมการบริหารพรรค แต่ส่วนตัวมองว่า กฎหมายรัฐรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด การออกกฎหมายต้องรอบคอบ และกลั่นกรองหลายชั้น เมื่อเห็นว่าสมบูรณ์ก็จะส่งมาที่วิปรัฐบาล วิปกลั่นกรองแล้วเสนอต่อประธานสภาฯ บรรจุระเบียบวาระ แต่กฎหมายภาคประชาชน อาจมาขั้นตอนเดียว ก็ต้องกลั่นกรองเยอะหน่อย

 

ส่วนแนวโน้มการโหวตของฝ่ายรัฐบาลจะเป็นอย่างไรนั้น นายนิโรธ กล่าวว่า ตามหลักการแล้วพรรคการเมืองถือเป็นอิสระต่อกัน ผู้แทนก็มีเอกสิทธิ์ วันนี้วิปรัฐบาลก็มาหารือกันเรื่องนี้ จึงยังตอบไม่ได้ว่าทิศทางเป็นอย่างไร

 

เมื่อถามว่า ขณะนี้มี ครม สัญจร การคุมเสียงในสภาจะทำอย่างไร นายนิโรธ กล่าวว่า เสียงในสภาเป็นหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร หากผู้แทนอยู่ในห้องประชุมแต่ไม่กดเป็นองค์ประชุม แสดงว่าผู้แทนเหล่านั้นปฏิเสธกฎหมายฉบับนี้ ทุกคนมีวุฒิภาวะ ตนก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร แต่ไม่มองเป็นเรื่องการกลั่นแกล้ง แล้วแต่ทัศนะ แต่ทุกคนต้องมีสามัญสำนึกในการเป็นผู้แทนฯ ถ้าไม่กดองค์ประชุมจนถึงขั้นทำให้สภาล่ม ก็ถือเป็นทำร้ายสภา แต่ที่ผ่านมาสภาก็เป็นไปด้วยดี อาจมีเออเร่อ (บกพร่อง) บ้างนิดหน่อย พร้อมกันนี้ ไม่ทราบว่าพรรคร่วมจะฟรีโหวตหรือไม่ ก็ต้องหารือกันอีกที

 

ส่วนที่สมาชิกวุฒิสภาออกมาตั้งป้อมจะไม่รับร่างฉบับนี้ ถ้าหากร่างตกไปจะมีผลกระทบกับรัฐบาล จะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองรุนแรงขึ้นหรือไม่ นายนิโรธ มองว่าไม่น่าเป็นเช่นนั้น เพราะเป็นเรื่องของรัฐสภา อีกทั้งสมาชิกวุฒิสภาก็มีความเห็น ตนไม่ขอก้าวล่วง

 

นิกร เชื่อ "ร่างแก้ รธน. ฉบับประชาชน" คว่ำแน่ ยากจะได้เสียง ส.ว.หนุน เหตุเสนอยุบ ส.ว.


นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะผู้อำนวยการพรรค กล่าวก่อนประชุมวิปรัฐบาล ถึงแนวทางการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคประชาชน ของกลุ่มรีโซลูชั่น ว่า การลงมติเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. วิปไม่สามารถไปกำหนดทิศทางได้ โดยร่างของกลุ่มรีโซรูชั่น คล้ายกับของพรรคพลังประชารัฐก่อนหน้านี้ที่มีลักษณะเป็นพวง ไม่สามารถเลือกลงมติเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ อีกทั้งไปทับซ้อนกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ของรัฐบาล ที่อยู่ในขั้นตอนการทูลเกล้าฯ 

 

นอกจากนี้ ร่างของกลุ่มรีโซรูชั่น ยังเสนอยกเลิก ส.ว. แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 ดังนั้นการจะเอาเสียง ส.ว. จึงเป็นไปได้ยาก

 

ทั้งนี้ นายนิโรธ ยังบอกด้วยว่า ตนเพิ่งมารับหน้าที่ ยังอ่านร่างกฎหมายไม่ละเอียด แต่ก็มีหลายประเด็นที่แหลมคมน่าศึกษา 

ข่าวยอดนิยม