ข่าว

มติ คปภ. ห้ามเปลี่ยน-ยกเลิกกรมธรรม์ "เจอจ่ายจบ" ชี้ ต้องยินยอมทั้ง 2 ฝ่าย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คปภ.ย้ำ ห้ามเปลี่ยน- ยกเลิกประกันโควิด-19 "เจอจ่ายจบ" ยึดประโยชน์ผู้เอาประกันเป็นหลัก ต้องได้รับความยินยอมทั้ง 2 ฝ่าย เร่งพิจารณารายละเอียดการยื่นเคลมทั้งหมด

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวในการแถลงข่าว กรณีปัญหาประกันโควิดแบบ "เจอจ่ายจบ" ว่า ตามที่สมาคมประกันภัยวินาศภัยไทย มีหนังสือลงวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ถึงประธานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (ประธานบอร์ด คปภ.) ขอให้พิจารณาทบทวน Macroprudential Supervision สำหรับการรับประกันภัยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) พิจารณาทบทวนคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัท ในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19  คปภ. จึงได้มีหนังสือเชิญนายกสมาคมฯ และกรรมการบริหารสมาคมฯ ทุกคนเข้าประชุมหารือกับเลขาธิการ คปภ. และคณะผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. และรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมในวันนี้ (วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564) โดยมี บริษัทประกันวินาศภัยที่เสนอขายประกันภัย COVID-19 แบบเจอจ่ายจบ เข้าร่วมประชุมด้วย 

 

 

มติ คปภ. ห้ามเปลี่ยน-ยกเลิกกรมธรรม์ "เจอจ่ายจบ" ชี้ ต้องยินยอมทั้ง 2 ฝ่าย

นายสุทธิพล กล่าวว่า ในที่ประชุมมีมติดังนี้  

1. การดำเนินการในแก้ปัญหา สำนักงาน คปภ. จะยึดถือประโยชน์สูงสุดของประชาชนผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ    

2. คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัท ในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ยังมีผลบังคับตามกฎหมายอยู่ บริษัทต้องปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว ส่วนประเด็นที่ยังเห็นไม่สอดคล้องกัน จะได้มีการหารือร่วมกัน เพื่อให้ได้มาตรการ ที่เหมาะสมต่อไป 

3.สำนักงาน คปภ. ได้รับทราบความเดือดร้อนของภาคธุรกิจและยินดีให้ความช่วยเหลือเพื่อให้พ้นวิกฤต โดยที่ผ่านมา คปภ. ได้ผ่อนคลายกฎกติกาให้ไปแล้วหลายเรื่อง แต่มาตรการการช่วยเหลือบริษัทที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด จะต้องขึ้นอยู่กับสถิติ ตัวเลขข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกต้อง แม่นยำและผลกระทบต่าง ๆ ในทุกมิติ ซึ่งต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ และที่สำคัญจะต้องไม่ทำให้ผู้เอาประกันภัยเดือดร้อน และต้องไม่เป็นการรอนสิทธิของประชาชนผู้เอาประกันภัย 

4.จะเร่งเชิญบริษัทประกันวินาศภัยที่เสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 แบบเจอจ่ายจบ มาสอบถามและขอข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการจัดทำ Stress Test เพื่อประเมินความทนทานของรายบริษัทและระบบประกันภัยภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงจำลองสำหรับการแพร่ระบาดของ COVID-19 


 

5.บริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับผลกระทบจากการเสนอขายประกันภัย COVID-19 แบบเจอจ่ายจบ อาจพิจารณา เข้าร่วมโครงการผ่อนผันเพิ่มเติม เพื่อเสริมมาตรการเยียวยาให้บริษัทมีสภาพคล่องพร้อมที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัย COVID-19 ให้กับผู้เอาประกันภัยได้มากขึ้น 

6.หากสมาคมฯ ต้องการเสนอมาตรการผ่อนผันเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือบริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับผลกระทบ ให้เร่งนำเสนอ เพื่อสำนักงาน คปภ. จะได้กลั่นกรองและเร่งนำเสนอต่อบอร์ด คปภ. โดยเร็ว

7.ในระหว่างที่มีการดำเนินการข้างต้น หากบริษัทประกันวินาศภัยใดที่ประสบปัญหาต้องการดำเนินการเพื่อมิให้ปัญหาการขาดสภาพคล่องลุกลามบานปลาย การเสนอแนวทางปรับปรุงเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 โดยเสนอทางเลือกที่น่าสนใจในการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยประเภทเดิม หรือปรับเปลี่ยนไปให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่นที่อาจเป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัยมากขึ้น สามารถกระทำได้เฉพาะกรณีที่เป็นเรื่อง ความสมัครใจของผู้เอาประกันภัยเท่านั้น บริษัทไม่สามารถไปบังคับผู้เอาประกันภัยให้ยอมรับการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย หรือยอมรับเงื่อนไขความคุ้มครองใหม่ของบริษัท ดังนั้น การเปลี่ยนสิทธิหน้าที่หรือความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยจะสามารถกระทำได้เฉพาะในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยได้มีการแสดงเจตนา หรือให้ความยินยอมโดยชัดแจ้งในการตอบรับข้อเสนอของบริษัทเท่านั้น

 

สำหรับกรณีของ บริษัท เดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน)  ที่ทำการส่ง SMS ให้ผู้เอาประกันภัย คปภ. ได้รับการชี้แจงว่า เป็นแนวทางการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ที่สามารถเลือกตามความสมัครใจได้ รวมทั้งบริษัทฯ ได้รับทราบแนวทางของ คปภ. ที่ไม่สามารถบังคับให้ผู้เอาประกันยกเลิก หรือปรับเปลี่ยนกรมธรรม์ได้ หากไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกัน สำหรับกรณีการส่งข้อความ และผู้เอาประกันภัยไม่ตอบรับภายใน 7 วัน ถือเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ และหากบริษัทประกันภัยมีทางเลือกที่ดีกว่าและตอบสนองความต้องการของลูกค้า สามารถกระทำการได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมของผู้เอาประกันด้วย 

 

นายสุทธิพล  กล่าวด้วยว่า ในส่วนการดูแลธุรกิจประกันภัย คปภ.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือไปแล้ว และมี 3 บริษัทเข้าร่วม ประกอบด้วย 1.บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ 3.บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งในอนาคต คปภ.จะหารือกับสมาคมเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยปัจจุบันจากการประเมินยังไม่เห็นผลกระทบเชิงระบบที่ส่งผลต่อธุรกิจประกันภัย พบเพียงผลกระทบรายบริษัทเท่านั้น 

 

อย่างไรก็ตาม คปภ.ยังติดตามสถานการณ์ของบริษัทประกันภัย และจะมีการประเมินอีกครั้ง ทั้งนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ประมาณ 44 ล้านกรมธรรม์ เป็นแบบเจอจ่ายจบ ประมาณ10 ล้านกรมธรรม์ จ่ายค่าสินไหมทดแทนประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะต้องไปดูรายละเอียดด้วยว่ามีการยื่นเคลมเท่าไรและมีการจ่ายไปเท่าไร รวมถึงการประกันภัยต่อด้วยจึงสามารถประเมินผลกระทบได้

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ