สพฐ.รับลูกรมว.ศธ. เป็นเจ้าภาพ เร่งตาม "เด็กหลุดจากระบบ" คืนสู่รร.
เจ้าวายร้ายไวรัสเขย่าวงการศึกษา กระทบอนุบาลจะขึ้นป.1, ป.6 จะขึ้นม.1 และม.3 จะขึ้นม.4 พบมี "เด็กหลุดจากระบบ" แล้ว 43,060 คน "เลขาธิการกพฐ." รับปาก สพฐ.จะเป็นเจ้าภาพติดตามเด็กคืนสู่รร.พร้อมสั่งการเขตพื้นที่การศึกษา เร่งประสานมหาดไทย เชื่อมโยง เลข13 หลัก ของนักเรียน
“เด็กหลุดจากระบบ” จากหลายปัจจัย หนึ่งในจำนวนนั้นรวมถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ส่งผลกระทบต่อครอบครัวเด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครองถูกเลิกจ้าง ตกงานกระทันหัน ไม่มีอะไรมารองรับจำเป็นต้องให้ลูกออกจากโรงเรียน หรือในบางครั้งเด็กต้องติดตามพ่อแม่กลับถิ่นบ้านเกิดแต่ไม่มีงานทำ ล่าสุด มีความคืบหน้าในเรื่องนี้
ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมมือกันสำรวจจำนวนเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.)ด้านการจัดการการศึกษา
เพื่อเพิ่มการเข้าถึงโอกาสของผู้เรียน โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาสและเด็กที่มีความจำเป็นพิเศษ ต้องได้รับการดูแล ซึ่งสพฐ.ได้ดำเนินการสำรวจนักเรียนช่วงรอยต่อ แต่ละช่วงชั้นเรียน ดังนี้
กลุ่มนักเรียนระดับบชั้นอนุบาลจะเลื่อนชั้นขึ้นประถมศึกษาปีที่1 (อนุบาล3จะขึ้นป.1), กลุ่มนักเรียนประถมศึกษาปีที่6 จะเลื่อนชั้นขึ้นเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่1(ป.6ขึ้นม.1) และกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่3 จะเลื่อนชั้นขึ้นเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่4 (ม.3จะขึ้นชั้นม.4 )
“ผลการสำรวจของสพฐ.พบว่านักเรียนกลุ่มรอยต่อ ที่จะเลื่อนชั้นเรียนทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวนั้น ได้ออกจากโรงเรียน หรือหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว มีจำนวนมากถึง 43,060 คน สพฐ.ยังไม่ทราบว่านักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษา ไม่ได้เรียนต่อในโรงเรียนไปอยู่ที่ไหน” เลขาธิการกพฐ.กล่าว
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า สพฐ.ยังไม่รู้ชะตากรรมของนักเรียนที่หลุดจากระบบทั้ง 43,060 คน ไม่ทราบแน่ชัดว่าไปเรียนในสถานศึกษานอกสังกัดของสพฐ.หรือเรียนการศึกษานอกโรงเรียน ในเรื่องนี้รมว.ศธ.มีความเป็นห่วงอนาคตของนักเรียน และได้กำชับทุกหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการทำการสำรวจเลขบัตรประชาชน13 หลักของนักเรียนเชื่อมโยงทุกหน่วยงานเพื่อติดตามเด็ก
“ภารกิจติดตามนักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษา สพฐ.รับเป็นเจ้าภาพดำเนินการติดตามนักเรียนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ กลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษา และยินดีรับฟังทุกปัญหาจากนักเรียน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขให้ตรงจุดพร้อมส่งเด็กคืนสู่โรงเรียนหรือสถานศึกษา” เลขาธิการกพฐ.กล่าว
เลขาธิการกพฐ. กล่าวถึงภารกิจติดตามเด็กหลุดจากระบบกลับคืนสู่โรงเรียนว่า ในเบื้องต้นตนได้มีข้อสั่งการมอบหมายให้ทุกเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)เร่งประสานความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย(มท.) ร่วมมือกันช่วยติดตามช่วยเหลือเด็กนักเรียนในกลุ่มนี้ให้ได้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ALL FOR EDUCATION ร่วมสร้าง “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” ป้องกันเด็กเสี่ยงหลุด 1.9 ล้านคน ระบุว่า วิกฤตการณ์โควิด-19 ได้ขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมให้ยิ่งกว้างขึ้นทุกที โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “โอกาสทางการศึกษา”
พบว่า 1.9 ล้านคน คือจำนวนเด็กยากจนและยากจนพิเศษ และพบว่ามีจำนวน 43,060 คน เป็นเด็กช่วงชั้นรอยต่อ ที่ยังไม่พบข้อมูลว่าได้กลับเข้ามาเรียนต่อ เด็กกลุ่มนี้ต้องช่วยผู้ปกครองทำงาน หารายได้เป็นเสาหลักเลี้ยงครอบครัว
ถึงเวลาแล้ว...ที่ต้องเร่งเดินหน้าสร้าง “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” เพื่อให้เด็กเยาวชนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเต็มศักยภาพ
ที่มา: กระทรวงศึกษาธิการและกสศ.