ข่าว

"ของเล่นบ้านๆ" สื่อพัฒนาทักษะเด็กปฐมวัยในยุคดิจิทัล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ของเล่นบ้านๆ" สื่อพัฒนาทักษะเด็กปฐมวัยในยุคดิจิทัล บทความโดย ผศ.ดร.อารีย์ เรืองภัทรนนต์ อาจารย์สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัยคณะครุศาสตร์ วิทยาเขตสุพรรณบุรี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

“เด็กปฐมวัย” ในยุคดิจิทัลเป็นเด็กในสังคมสมัยใหม่ที่อยู่กับสื่อไอ.ที. ใช้เวลาวันละหลายชั่วโมง อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แทบเล็ต ด้วยเหตุที่สื่อสมัยใหม่เหล่านี้ ท้าทายความสนใจและสามารถตอบสนองทันต่อความต้องการของเด็ก ในยุคดิจิทัล

 

การนำ “ของเล่นบ้านๆ”  ซึ่งในที่นี้ หมายถึง “การละเล่นพื้นบ้าน” อาทิ เดินกะลา ม้าก้านกล้วย หมากเก็บ รีรีข้าวสาร  มาให้เด็กเล่นด้วยกันนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นภาพที่หาดูได้ยาก 

 

การละเล่นพื้นบ้านนั้นมีคุณค่ามากมายในการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นสื่อที่ทำให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้ด้วยการเล่น ผ่านประสาทสัมผัสหลายส่วนพร้อมกัน ทั้งการสัมผัส การมองเห็น และการได้ยินเสียง 

 

นอกจากได้ฝึกฝนการใช้กล้ามเนื้อและประสาทสัมผัสแล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ความคิดและพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตของเด็กปฐมวัยในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยพื้นฐานของการละเล่นพื้นบ้านทุกประเภท มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการให้กับเด็ก

 

การละเล่นพื้นบ้านหมากเก็บ ส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อตั้งแต่บริเวณข้อมือ ฝ่ามือ และนิ้วแต่ละนิ้ว ที่สัมผัสหยิบจับและอาศัยนิ้วมือในการควบคุม ช่วยให้เด็กสามารถผูกเชือกรองเท้าและช่วยเหลือตนเองในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้ 

ม้าก้านกล้วย

การละเล่นพื้นบ้านเดินกะลาและม้าก้านกล้วย พัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อบริเวณ ลำตัว แขน ขา และความสัมพันธ์กันของอวัยวะต่าง ๆ ช่วยให้เด็กรู้จักการทรงตัว สร้างความสมดุลให้กับร่างกาย 

การละเล่นพื้นบ้านรีรีข้าวสาร ส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา พัฒนาไหวพริบ การคิดแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ที่จะให้ตนรอดจากการถูกคล้องตัวไว้ ส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคม การสร้างสัมพันธ์ การสื่อสารพูดคุยและเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ การมีสมาธิ ความตั้งใจ ความอดทนและความพยายามเพื่อให้สำเร็จ

 

อย่างไรก็ตามในยุคดิจิทัลนี้การเล่นสมัยใหม่ โดยเฉพาะการเล่นเกม ผลผลิตของเทคโนโลยี อาจทำให้เด็กปฐมวัยต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางการต่อสู้ การเอาชนะ และมุ่งทำทุกอย่างเพื่อตนเองจนมองไม่เห็นคุณค่าของคนอื่น

"ของเล่นบ้านๆ"  สื่อพัฒนาทักษะเด็กปฐมวัยในยุคดิจิทัล

 

การมีส่วนร่วมป้องกันไม่ให้เด็กปฐมวัยเกิดพฤติกรรมดังกล่าว พ่อแม่ ครู ต้องเรียนรู้ร่วมกันไปกับยุคสมัยและปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยี ให้ความสำคัญและเลือกใช้ประโยชน์จากสื่อสมัยใหม่แต่ยังคงใช้ “ของเล่นบ้าน ๆ” เป็นสื่อพัฒนาทักษะเด็กปฐมวัยในยุคดิจิทัลตามความจำเป็นและเหมาะสม

logoline