ข่าว

รัฐจัดเก็บ "ภาษีรถกระบะแคป" เท่า 4 ประตู ชัวร์หรือมั่วนิ่ม เช็คก่อนแชร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เผยข้อมูล รัฐบาลจัดเก็บ "ภาษีรถกระบะแคป" เท่า 4 ประตู เป็น "ข่าวปลอม" ยืนยัน คิดภาษีตามน้ำหนักรถ เหมือนเดิม

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ตรวจสอบข้อมูล ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง รัฐบาลเก็บภาษีรถกระบะ 2 ประตู หรือ กระบะแคป เท่า 4 ประตู จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม พบว่า ประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
 

 

กรณีการโพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนการเก็บภาษีรถ ที่ระบุว่า รถกระบะ 2 ประตู หรือกระบะแค๊ป ต้องเสียภาษีเท่ารถกระบะ 4 ประตูนั้น ทางกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ได้ทำการตรวจสอบ และชี้แจงข้อเท็จจริงว่า กรมการขนส่งทางบกยังคงจัดเก็บภาษีรถประจำปีในอัตราคงเดิม ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยหากเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รถเก๋งหรือรถกระบะ 4 ประตู) จะเรียกเก็บตามขนาดความจุกระบอกสูบของรถยนต์ ส่วนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (รย.2 หรือ รถตู้) และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รย.3 หรือ รถกระบะ 2 ประตู หรือ รถกระบะตอนเดียว หรือ กระบะแค๊ป) จะคิดอัตราภาษีรถตามน้ำหนักรถ

 

นอกจากนี้ ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบก ยังได้มีมาตรการส่งเสริมการใช้รถที่ใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า หรือใช้พลังงานทดแทนพลังงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือพลังงานอย่างประหยัด ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยจัดเก็บภาษีประจำปีในอัตรากึ่งหนึ่งของอัตราตามที่กำหนดไว้
 

 

ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อ ในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จากกรมการขนส่งทางบก สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.dlt.go.th/th หรือ โทร.1584 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : กรมการขนส่งทางบกยังคงจัดเก็บภาษีรถประจำปีในอัตราคงเดิม ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยกระบะ 2 ประตู หรือ รถกระบะตอนเดียว หรือ กระบะแค๊ป คิดอัตราภาษีรถตามน้ำหนักรถ ส่วนรถกระบะ 4 ประตู เรียกเก็บตามขนาดความจุกระบอกสูบ

 

 

ค่าต่อภาษีรถ 2564 ประเภทรถกระบะ 2 ประตู

 

รถป้ายทะเบียนพื้นขาวตัวหนังสือเขียว เป็นประเภทรถบรรทุกส่วนบุคคลที่เกิน 7 ที่นั่ง ด้วยการคำนวณภาษีจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักรถ โดยมีรายละเอียดแจกแจงออกมาได้ดังนี้

 

  • ช่วงน้ำหนักรถ 50 - 750 กิโลกรัม คิดอัตราภาษี 450 บาท
  • ช่วงน้ำหนักรถ 751 –1000 กิโลกรัม คิดอัตราภาษี 600 บาท
  • ช่วงน้ำหนักรถ 1001 – 1250 กิโลกรัม คิดอัตราภาษี 750 บาท
  • ช่วงน้ำหนักรถ 1251 – 1500 กิโลกรัม คิดอัตราภาษี 900 บาท
  • ช่วงน้ำหนักรถ 1501 – 1750 กิโลกรัม คิดอัตราภาษี 1,050 บาท
  • ช่วงน้ำหนักรถ 1751 – 2000 กิโลกรัม คิดอัตราภาษี 1,350 บาท
  • ช่วงน้ำหนักรถ 2001 – 2500 กิโลกรัม คิดอัตราภาษี 1,650 บาท

 

 

รัฐจัดเก็บ "ภาษีรถกระบะแคป" เท่า 4 ประตู ชัวร์หรือมั่วนิ่ม เช็คก่อนแชร์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ