ราชกิจจาฯ เผย รัฐสภาออกประกาศ "หลักเกณฑ์รับฟังความเห็นร่างกม.ประกอบรธน."
ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ลงนามประกาศรัฐสภา หลักเกณฑ์การรับฟังความเห็น ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยสภาผู้แทนราษฎร ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว
ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ลงนามในประกาศรัฐสภา เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจาก ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยประกาศลงราชกิจจาฯ มีผลประกาศใช้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา
14 พ.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา ราชกิจจาฯ เผยแพร่ ประกาศรัฐสภา เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจาก ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๔ ซึ่งลงนามโดย นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา มีผลประกาศใช้แล้ว
ประกาศรัฐสภา มีเนื้อหาดังนี้ อาศัยอำนาจตามความในข้อ 81 วรรคสี่ แห่งข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ประธานรัฐสภา จึงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบ ที่อาจเกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ 2 เมื่อมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญต่อ ประธานรัฐสภา ก่อนบรรจุระเบียบวาระการประชุม ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น โดยดำเนินการรับฟัง ความคิดเห็นผ่านระบบกลาง ตามวิธีที่กฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและประเมินผลสัมฤทธิ์ ของกฎหมายและจะใช้วิธีการอย่างหนึ่งหรือหลายวิธี ดังต่อไปนี้ ด้วยก็ได้
(1) การรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
(2) การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น
(3) การสัมภาษณ์ หรือการเชิญให้เข้าร่วมชี้แจงหรือแสดงความคิดเห็น
(4) การสำรวจความคิดเห็น
(5) วิธีการอื่นใดที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าเหมาะสม โดยความเห็นชอบ ของประธานรัฐสภา
ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ต่อรัฐสภาและได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นแล้ว หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่มีหลักการทำนองเดียวกันขึ้นอีก สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอาจไม่ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่งก็ได้
ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภา โดยได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจาก ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญประกอบการเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น ในสาระสำคัญแล้ว สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอาจไม่จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่งก็ได้
การเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่มีหลักการทำนองเดียวกันตามวรรคสอง ให้ประธานรัฐสภาวินิจฉัยและคำวินิจฉัยถือเป็นเด็ดขาด
ข้อ 3 เพื่อให้การปฏิบัติงานตามภารกิจในด้านนิติบัญญัติของรัฐสภาเป็นไปตามบทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ในการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เสนอ โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเห็นสมควรจะนำหลักเกณฑ์ ในการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายมาใช้บังคับตามความเหมาะสมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้
ข้อ 4 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามข้อ ๒ และข้อ ๓ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อาจมอบหมายให้หน่วยงานราชการภายในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรหรือแต่งตั้ง คณะกรรมการหรือข้าราชการรัฐสภาสามัญเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศนี้
ข้อ 5 ในการปฏิบัติงานของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เสนอ โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หากมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้ประธานรัฐสภาวินิจฉัย และคำวินิจฉัยถือเป็นเด็ดขาด
ประกาศ ณ วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2564
ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา
คลิกอ่านฉบับเต็ม .... ประกาศรัฐสภา เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๔