ข่าว

ไอติม ขอ ส.ว.โหวตรับ “ร่าง รธน. ฉบับประชาชน" เปิดทาง สภาเดี่ยว

ไอติม ขอ ส.ว.โหวตรับ “ร่าง รธน. ฉบับประชาชน" เปิดทาง สภาเดี่ยว

13 พ.ย. 2564

ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ ขอ ส.ว.โหวตรับ “ร่าง รธน. ฉบับประชาชน" เปิดทางสภาเดี่ยว ชี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการยุติการสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์ แต่ส่อแท้ง เมื่อ ส.ว.มีท่าที ไม่ขานรับ มองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสภา องค์กรอิสระและศาล เปิดช่องแทรกแซง

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม แกนนำกลุ่ม Re-Solution กล่าวถึงกรณี"ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน" จำนวน 150,921 รายชื่อ และตนเองเป็นคนหนึ่งที่ลงชื่อเสนอร่างดังกล่าวด้วย กล่าวว่า  ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันที่ 16 พ.ย. 2564 ซึ่งนับเป็นความพยายามครั้งที่ 2 ของภาคประชาชนที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เข้าสู่รัฐสภา 

 

หลังจากก่อนหน้านี้ "ร่างของภาคประชาชน" นำโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน(iLaw)ถูกปัดตกเพราะติดเงื่อนไขสำคัญในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 (3) ที่กำหนดให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะผ่านวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ต้องได้รับเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา หรือ 366 คนขึ้นไป และต้องได้เสียงจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 คนด้วย

 

นายพริษฐ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ส.ว.อ้าง 2 เหตุผลหลักในการปฏิเสธ "ร่างของภาคประชาชน" หนึ่ง เพราะกลัวว่าจะเป็นการตีเช็คเปล่าให้ สสร. ไปเขียนอะไรก็ได้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สอง เพราะไม่ต้องการเอื้อประโยชน์แก่นักการเมือง แต่ความกังวลที่ว่าจะไม่เกิดขึ้นกับร่างของกลุ่ม Re-Solution เพราะเป็นการแก้ไขรายมาตราที่มีข้อเสนอชัดเจน 

 

ทุกข้อเสนอเป็นไปเพื่อแก้ไขต้นตอวิกฤติการเมืองไทย คือกลไกที่ระบอบประยุทธ์ หรือ คสช. สอดแทรกไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อสืบทอดอำนาจและเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ไม่ว่าจะเป็นล้มวุฒิสภาที่มีอำนาจล้นฟ้าแต่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โละศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศที่ถูกวางไว้เป็นอาวุธลับทางการเมือง และล้างมรดกรัฐประหาร นายพริษฐ์ ระบุ

 

นายพริษฐ์ กล่าวว่า ดังนั้นน่าจะเปิดใจรับร่างฉบับนี้ ได้ง่ายกว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งที่ถูกมองว่าพรรคการเมืองมีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่ง ส.ว.ให้ความเห็นชอบไปแล้วด้วยซ้ำ

นายพริษฐ์ กล่าวว่า การที่ร่างของกลุ่ม Re-Solution เสนอยกเลิกวุฒิสภา ให้ประเทศไทยกลายเป็นสภาเดี่ยว ไม่ได้เกิดจากความเกลียดชังหรือทำเพื่อความสะใจ แต่เพราะเล็งเห็นแล้วว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการเป็นสภาเดี่ยว อาทิ ทำให้การออกกฎหมายคล่องตัว ทันใจ ตอบสนองต่อสถานการณ์ได้ดีขึ้น 

 

นายพริษฐ์ กล่าวว่า แต่ขณะเดียวกันก็ไม่สูญเสียกลไกตรวจสอบถ่วงดุล ด้วยการขยายบทบาทฝ่ายค้านและภาคประชาชน การเป็นสภาเดี่ยวยังประหยัดงบประมาณได้กว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสามารถนำมาส่งเสริมสวัสดิการประชาชน เป็นโครงสร้างทางการเมืองที่สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ เพราะประเทศทั่วโลกที่เป็นประชาธิปไตยเป็นรัฐเดี่ยว และใช้ระบบรัฐสภา มีถึง 20 จาก 31 ประเทศ ที่ใช้ระบบสภาเดี่ยว ที่สำคัญยังเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการยุติการสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์

ด้านความเคลื่อนไหวของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว. ) ต่อประเด็น "ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน"

 

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวว่า ส่วนตัวดูแล้วมีโอกาสผ่านยาก เพราะเนื้อหาที่เสนอแก้ไขเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง รัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครององค์กรอิสระ และยังเปิดช่องให้แทรกแซงการทำงานของศาล และองค์กรอิสระได้


ด้านนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. กล่าวว่า ส.ว.ส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่าไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพราะฟังจากกระแสเสียงแล้ว แม้แต่สภาผู้แทนราษฎรเองส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าไม่รับ จะมีรับก็พรรคการเมืองบางพรรคเท่านั้น

 

นายวันชัย กล่าวว่า เท่าที่ดูหลักการและเหตุผลในร่างดังกล่าวแล้วก็คงไม่รับ  ร่างฉบับนี้เป็นฉบับที่ล้ม โล๊ะ เลิก หรือฉบับปฏิวัติ เสมือนหนึ่งว่า ขออำนาจมายกเลิกองค์กรต่าง ๆ สภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรเดียวที่ใหญ่ในแผ่นดิน โดยไม่คำนึงถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ ทำให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงได้ ทั้งอำนาจในกองทัพ อำนาจในองค์กรอิสระ อำนาจในศาลรัฐธรรมนูญ อำนาจในตุลาการ นั่นหมายความว่าการแบ่งแยกอำนาจนั้นจบโดยสิ้นเชิง ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักสากลของประชาธิปไตย ฉะนั้นพิจารณาเรื่องเดียวก็เห็นว่าไม่ควรให้ผ่าน 


ขณะที่ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว อีกคนให้ความเห็นว่า ขอฟันธง 100% ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จะไม่ผ่านวาระรับหลักการจากรัฐสภา ไม่มี ส.ว.ให้ความเห็นชอบเกิน 1 ใน 3 หรือ 84 คนแน่นอน เพราะเป็นการแก้ไขทั้งโครงสร้างรัฐสภา ศาล และองค์กรอิสระให้เอาตามที่ฝ่ายตนเองต้องการ โดยเฉพาะข้อเสนอที่ให้เหลือเพียงแค่สภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว ไม่เหมาะสมกับประเทศไทย ทำให้ขาดการถ่วงดุล