นายกฯประกาศเจ้าภาพ "เอเปคปี 65" พลิกฟื้นประเทศสู่อนาคต
นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศการเป็นเจ้าภาพ "เอเปค ปี 65" สร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง พลิกฟื้นประเทศสู่อนาคต
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงการเป็นเจ้าภาพ "เอเปค" ของไทยในปี 2565 ถึงประชาชนคนไทยภายหลังการรับมอบตำแหน่งจากนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์
ผมได้เป็นตัวแทนคนไทย รับมอบตำแหน่งเจ้าภาพ "เอเปค" ของไทยในปี 2565 จากนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ และผมยินดีอย่างยิ่งที่จะเรียนว่า บัดนี้ ไทยได้ดำรงตำแหน่งเจ้าภาพเอเปค และจะปฏิบัติหน้าที่ตลอด 1 ปี ต่อจากนี้
ผมขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันต่อสู้กับสถานการณ์โควิด-19 อย่างเต็มที่ จนทำให้วันนี้เราสามารถเริ่มเดินหน้าใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิดได้อย่างปลอดภัยและสมดุล เปิดรับการเดินทางได้อีกครั้ง
และที่สำคัญสามารถจัดประชุม "เอเปค" แบบพบหน้ากันอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากที่ต้องดำเนินการผ่านระบบการประชุมทางไกลมาตลอด2 ปี การเป็นเจ้าภาพ "เอเปค" ในเวลานี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งที่ไทยจะเปิดตัวและขับเคลื่อนการฟื้นประเทศจากโควิดไปสู่อนาคต และแสดงความพร้อมในการต้อนรับชาวต่างชาติ ตั้งแต่ระดับผู้นำ นักธุรกิจระดับสูงและองคาพยพทั้งหมดของ "เอเปค" ตลอดจนสื่อชั้นนำกว่าหมื่นคนที่จะเดินทางมาประเทศไทยตลอดปีหน้า
.
"เอเปค" เป็นเวทีส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ไทยเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ประกอบด้วยเขตเศรษฐกิจชั้นนำที่ตั้งอยู่ริมมหาสมุทรแปซิฟิกถึง21 เขตเศรษฐกิจซึ่งครอบคลุมมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก เช่นสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น ปัจจุบัน สมาชิกเอเปคมีจีดีพีรวมกันทั้งสิ้นกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,700 ล้านล้านบาท และมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก
ที่ผ่านมา ไทยได้ประโยชน์จากการมีพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและได้ร่วมผลักดันแนวคิดใหม่ ๆ ที่ช่วยพัฒนาประเทศไปสู่การเจริญเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืน โดยเฉพาะการส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมในการพัฒนาศักยภาพของประชาชน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs การสนับสนุนบทบาทสตรีในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนด้วย
การเป็นเจ้าภาพ "เอเปค" จึงถือเป็นเกียรติ และสะท้อนความเชื่อมั่นที่สมาชิก "เอเปค" มีต่อไทย โดยไทยเคยเป็นเจ้าภาพ "เอเปค" เมื่อปี 2535 และ2546 และในการเป็นเจ้าภาพครั้งที่สามนี้ ภาคส่วนต่าง ๆ ได้ร่วมกันเตรียมการอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ภาคธุรกิจ นักวิชาการ ชุมชน จนถึงคนรุ่นใหม่ เพื่อร่วมสกัดแนวคิดและวางเป้าหมายที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อคนไทย
ในการเป็นเจ้าภาพ "เอเปค" ครั้งนี้ ไทยจะขับเคลื่อนให้ "เอเปค" พลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกยุคหลังโควิดที่ยั่งยืนและสมดุล และทุกคนมีส่วนร่วม ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy
ไทยจึงได้กำหนดให้หัวข้อหลักของการประชุม คือ เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล หรือ Open Connect Balance มุ่งผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในประเด็นสำคัญ 3 ด้าน คือ หนึ่ง การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยมุ่งสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม สอง การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือในเอเปค และสาม การฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการเดินทางและท่องเที่ยวเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด
ผมขอใช้โอกาสนี้แสดงความยินดีกับนายชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ชนะการประกวดโลโก้การเป็นเจ้าภาพ "เอเปค ปี 2565" ของไทย โดยผลงานชะลอมนี้เป็นเครื่องจักสานของไทยที่ใช้ใส่สิ่งของและเป็นสัญลักษณ์การค้าการเดินทางของไทยแต่โบราณ สะท้อนความเป็นไทยจากรุ่นสู่รุ่น โดยเส้นตอกไม้ไผ่ที่สอดประสานกันมีความแข็งแรง คงทน เหนียวแน่นและยืดหยุ่น ดังเช่นความร่วมมือของสมาชิก "เอเปค"
การประชุมแรกของ "เอเปค 2565" ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ จะจัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 1-3ธันวาคมนี้ และจะมีการประชุมอื่น ๆ กว่าร้อยการประชุมในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศตลอดปีหน้า ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกพื้นที่
สุดท้ายนี้ ผมขอเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมกันเป็นเจ้าภาพที่ดี อย่างที่คนไทยเคยเป็นเสมอมา และขอเรียนว่าพวกเราจะทำงานอย่างสุดความสามารถ เพื่อให้การเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ประสบความสำเร็จ และสร้างประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนและลูกหลานในอนาคตต่อไป