ข่าว

คืบหน้าล่าสุด "วัคซีนพ่นจมูก" NASTVAC เตรียมทดลองในมนุษย์กลางปี 65

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทีมวิจัยเผยความคืบหน้าล่าสุด "วัคซีนพ่นจมูก" เตรียมยื่นอย.ขอทดลองในมนุษย์เดือนเมษายน 2564 ระบุชัดผลทดสอบในหนูทดลองได้ผลดี พบผลข้างเคียงน้อย พร้อมเปิดระดมทุนให้การศึกษาเดินหน้าต่อ

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค สวทช. ให้สัมภาษณ์กับ "คมชัดลึกออนไลน์" ถึงความคืบหน้าในการวิจัยวัคซีนโควิด-19 ชนิดวัคซีนพ่นจมูก (NASTVAC) ว่า ทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี ไบโอเทค ได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาวัคซีนต้านโรคติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่มีการเริ่มระบาดในประเทศจีนในเดือนมกราคม 2563 เป็นต้นมา ซึ่งขณะนี้ผ่านการทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูทดลองเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการขออนุญาตกับองค์การอาหารและยา (อย.) เพื่อขอทำการทดลองในมนุษย์  แต่ในกรณีดังกล่าวทางทีมวิจัยจะต้องส่งเอกสารการขอนุญาตทดสอบวัคซีนในมนุษย์ให้แก่อย.พิจารณาทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่ 


1. ผลการทดลองวัคซีนแบบจัดเจน ว่ามีประสิทธิภาพอย่างไร มีผลข้างเคียงหรือไม่ 
2. ความปลอดภัยในการทดสอบวัคซีนกับหนูแบบละเอียดโดยจะต้องมีการรายละเอียดผลกระทบที่เกิดขึ้นภายในอวัยวะต่าง ๆ ของหนู ว่ามีอะไรเสียหายหรือไม่ 
3.มาตรการของบรรจุภัณฑ์วัคซีน มีการผลิตที่ไหน ใช้มาตรฐานอย่างไร ซึ่งในขั้นตอนนี้ทางทีมวิจัยจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญ เป็นผู้เขียนรายละเอียด เนื่องจากเป็นเรื่องของเทคนิคทางตัวชีววัสดุ ที่ต้องมีการรายงาน อย. อย่างรัดกุมเสียก่อน หากผ่านการพิจารณาจึงจะเริ่มทดลองผลิตวัคซีน และเข้าสู่กระบวนการการทดลองกับคนในระยะต่อไป  

 

 

ดร.อนันต์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามในขั้นตอนของการรายงานผลชีววัสดุที่จะนำมาใช้ในการบรรจุวัคซีนค่อนข้างมีความละเอียดและจำเป็นจะต้องใช้งบประมาณ และระยะเวลาค่อนข้างมาก ส่งผลกระทบกับแผนการเดิมที่ทีมวิจัยว่างไว้ว่าจะต้องสามารถทดลองในคนได้ประมาณปลายปีนี้ต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากติดเรื่องงบประมาณที่ใช้จ่ายไม่ทันตามรอบเบิกจ่ายและจะต้องส่งคืน จึงทำให้แผนการขอขึ้นทะเบียนกับอย. เพื่อทำการทดลองในคนจำเป็นต้องเลื่อนออกไปก่อน แต่เพื่อให้การวิจัยและผลิตวัคซีนชนิดพ่นจมูกสามารถเดินหน้าต่อไป ทางทีมจึงได้มีการหารือกับ สวทช. เพื่อเปิดระดมทุนสำหรับนำงบประมาณมาใช้ดำเนินการในขั้นตอนการขอทดสอบวัคซีนพ่นจมูก ในมนุษย์ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว และลดระยะเวลาที่จะต้องรองบประมาณจากส่วนกลางลงไป

 

ทั้งนี้หากทีมวิจัยสามารถส่งเอกสารให้ อย.ครบตามระยะเวลาที่กำหนดไว้คือประมาณ เดือนก.พ. 2565 แล้วก็คาดว่าจะสามารถทดลองผลิตตัวอย่างวัคซีนพ่นจมูกประมาณ 200-300 โดส เพื่อใช้สำหรับการทดสอบวัคซีนพ่นจมูก ในมนุษย์ได้ประมาณเดือนเม.ย. 2565 ทั้งนี้หากมีความชัดเจน และขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนกับ อย. เพื่อทำการทดสอบในมนุษย์เสร็จแล้วจะมีการประกาศรับอาสาสมัคร เพื่อเข้ามาร่วมทดสอลประสิทธิภาพอีกครั้ง 

 

คืบหน้าล่าสุด "วัคซีนพ่นจมูก" NASTVAC เตรียมทดลองในมนุษย์กลางปี 65

สำหรับวัคซีนพ่นจมูกนั้น  เกิดจากการสังเคราะห์ยีนสไปค์ของไวรัสขึ้นเองโดยอาศัยข้อมูลรหัสพันธุกรรมของไวรัสที่เผยแพร่หลังจากที่มีการถอดรหัสสำเร็จ และนำยีนดังกล่าวไปใช้เป็นแอนติเจนหรือโปรตีนกระตุ้นภูมิในรูปแบบต่างๆ ประกอบกับความสามารถในการทำวิจัยเชิงลึกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตัดต่อพันธุกรรมของไวรัส ที่ทีมวิจัยมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการตัดต่อพันธุกรรมไวรัสให้มีความอ่อนเชื้อลง และไม่สามารถแบ่งตัวเพิ่มได้ ซึ่งทีมวิจัยได้ประยุกต์ใช้พัฒนาเป็นต้นแบบวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ซึ่งได้มุ้งเน้นพัฒนาต้นแบบวัคซีนพ่นจมูก 3 ประเภท คือ

1. วัคซีนประเภท Virus-like particle (VLP) หรือ วัคซีนอนุภาคไวรัสเสมือน เป็นเทคโนโลยีการสร้างโครงสร้างเลียนแบบอนุภาคไวรัสแต่ไม่มีสารพันธุกรรมของไวรัสบรรจุในโครงสร้างดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังกล่าววัคซีนรูปแบบนี้จึงปลอดภัย และสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีต่อโปรตีนสไปค์จากผิวของวัคซีนได้ด้วย 

2.วัคซีนประเภท Influenza-based คือการปรับไวรัสไข้หวัดใหญ่ให้สามารถแสดงออกโปรตีนสไปค์ของไวรัส SAR-CoV-2 หลังจากนำส่งเข้าสู่ร่างกาย วิธีนี้จะทำให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อทั้งไวรัสไข้หวัดใหญ่ และ SARS-CoV-2 ได้ในเวลาเดียวกัน และ 

3.วัคซีนประเภท Adenovirus vector-based คือ การปรับพันธุกรรมไวรัส Adenovirus serotype 5 ให้อ่อนเชื้อและสามารถติดเชื้อได้ครั้งเดียว และ เพิ่มยีนที่กำหนดการสร้างโปรตีนสไปค์เพิ่มลงไปในสารพันธุกรรมของไวรัส เมื่อนำไวรัสชนิดนี้ฉีดเข้าสู่ร่างกายจะมีการสร้างโปรตีนสไปค์เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ ซึ่งทีมได้ดำเนินการวิจัยพัฒนาในหลอดทดลองและทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูทดลองและประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิดต่อการคุ้มกันโรคที่เกิดขึ้นจริงในเฟสต่างๆ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ