นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้ข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันของแกนนำราษฎร เข้าข่ายการกระทำที่ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งให้เลิกการกระทำรวมถึงเครือข่ายที่ร่วมกระทำด้วยว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวถือว่าเป็นที่สุด และมีผลผูกพันกับทุกองค์กรให้ปฏิบัติตาม ส่วนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ยุติการกระทำ ไม่ใช่เฉพาะผู้ถูกร้องทั้ง 3 คน (นายอานน์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก, น.ส.ปนัสยา รวมถึงองค์กรเครือข่ายด้วย และไม่ใช่ให้ยุติการกระทำเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เท่านั้น แต่รวมถึงเหตุการณ์ต่อเนื่องและสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
ส่วนคำวินิจฉัยของศาลที่ถูกมองว่าขัดขวางเสรีภาพประชาชน นายคำนูณ กล่าวว่า การใช้สิทธิเสรีภาพตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ต้องไม่เป็นสิทธิเสรีภาพที่มีผลล้มล้างการปกครองในระะบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และใครที่พบเห็นสามารถยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามกระบวนการ และศาลมีอำนาจให้ยุติการกระทำได้ ดังนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำตามที่ร้องมานั้น เป็นสิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง จึงถือว่าเข้าข่ายมาตรา 49 หากจะใช้สิทธิเสรีภาพเรื่องอื่นสามารถใช้ได้ แต่ไม่ใช่การใช้เสรีภาพที่ล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
สำหรับกรณีที่มีการเสนอเสนอแก้กฎหมาย มาตรา 112 จะถือว่าเข้าข่ายคำวินิจฉัยหรือไม่ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่าต้องดูการกระทำเป็นเฉพาะกรณีไป ไม่อาจแปลความเกินได้ และไม่ควรตีความเกินคำวินิจฉัย ต้องอยู่ในกรอบการปฏิรูปสถาบัน 10 ข้อที่คณะราษฎรประกาศไว้ และการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง เป็นกรณีๆไป ทั้งนี้ตนเองยังไม่เห็นคำวินิจฉัยฉบับเต็ม จึงขอไม่แสดงความเห็น
เมื่อถามว่ากรณีที่มีนักการเมืองเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าวด้วย มีสิทธิถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้หรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่าแล้วแต่พยานหลักฐาน และต้องดูเป็นรายกรณี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง