"มหาวิทยาลัยกวางสี" แนะแบ่งปัน Big Data เสริมธุรกิจท่องเที่ยวจีน-อาเซียน
นายกสภาม.สวนดุสิต ชี้ การจัดรูปแบบการอุดมศึกษา ช่วยส่งเสริมความสำเร็จโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ขณะที่ผอ.ศูนย์วิจัยแถบเศรษฐกิจล้านช้าง-แม่โขง “มหาวิทยาลัยกวางสี” แนะการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมและแบ่งปัน Big Data ช่วยเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวจีน-อาเซียน
สัมมนาวิชาการ โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง โดย ม.สวนดุสิตและสถาบันขงจื่อฯ คึกคัก บุคลากรแวดวงการศึกษาและการท่องเที่ยวร่วมงานคับคั่ง
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมกับ “มหาวิทยาลัยกวางสี” และสถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สุพรรณบุรี จัดการสัมมนาวิชาการออนไลน์ข้ามประเทศ เรื่อง การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อาเซียน ภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (The Development of China-ASEAN Relations Reviewed under the Belt and Road Initiative)
โดยมี ดร.ถนอม อินทรกำเนิด นายกสภามหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นประธานในการสัมมนา และบรรยายในหัวข้อรูปแบบการอุดมศึกษาเพื่อส่งเสริมทุนมนุษย์ในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (A Proposed Model of Higher Education for Developing Human Capital to Support the Belt and Road Initiative)
และ ศ.ดร.หลิง ฉางหรง อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกวางสี ซึ่งดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการคณะกรรมการวิจัยวิชาการการท่องเที่ยวสีแดง ของสมาคมวิจัยวัฒนธรรมจีนแดง และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแถบเศรษฐกิจล้านช้าง-แม่โขง มหาวิทยาลัยกวางสี บรรยายในหัวข้อ “การพัฒนาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ระหว่างจีน-อาเซียน ภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”
และ ดร.พรชณิตว์ แก้วเนตร รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศและลูกค้าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน ให้เกียรติกล่าวรายงาน และดำเนินรายการในช่วงของการ ถาม-ตอบ ของการสัมมนา ณ ห้องประชุมลำพอง 2 และการประชุมออนไลน์ ZOOM Application
การบรรยายในวันนี้ ดร.ถนอม อินทรกำเนิด นายกสภามหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้นำเสนอแนวคิดการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ให้บัณฑิตในอนาคตได้มีความรู้ความเข้าใจในทุกมิติของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง รวมถึงความมีจริยธรรม จะนำมาซึ่งการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เป็นผลกระทบจากการดำเนินโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางได้ และส่งเสริมให้โครงการนี้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
พร้อมหยิบยกคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่องอิทธิบาทสี่ หรือธรรมะที่ใช้ในการทำงานเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ ได้แก่ 1. ฉันทะ คือ ความรักงาน-พอใจกับงานที่ทำอยู่ 2. วิริยะ คือ ขยันหมั่นเพียรกับงาน
3. จิตตะ คือ ความเอาใจใส่รับผิดชอบงาน 4. วิมังสา คือ การพินิจพิเคราะห์การมีความเข้าใจในงาน มาใช้ในการบ่มเพาะนักศึกษาเพื่อเป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์ในอนาคต
ด้าน ศ.ดร.หลิง ฉางหรง อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกวางสี นำเสนอข้อมูลด้านเศรษฐกิจจีน-อาเซียนที่เติบโตอย่างต่อเนื่องภายใต้การดำเนินโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ซึ่งความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวจีน-อาเซียน
อาทิ การเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคม การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการท่องเที่ยวเชื่อมโยงการให้บริการสายการบินและโรงแรมของแต่ละประเทศไว้ในแพลตฟอร์มเดียว
และนำ Big Data มาแบ่งปันเพื่อการพัฒนาการให้บริการ และการร่วมมือด้านการตลาด ช่วยเพิ่มความสะดวกและความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว และทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวเติบโตไปด้วยกัน
นอกจากนี้ ผู้ร่วมรับฟังการสัมมนายังเสนอความเห็นเรื่องการจัดการศึกษาให้สอดรับการโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และมีความสนใจในประเด็นการท่องเที่ยวและการเดินทางไปศึกษายังประเทศไทยและจีน หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายอีกด้วย