ข่าว

"ส.ป.ก." จับมือ ม.เกษตรฯ อบรมหลักสูตร นวัตกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ส.ป.ก." จับมือ ม.เกษตรฯ อบรมหลักสูตร นวัตกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาเจ้าหน้าที่ผู้พัฒนาเกษตรกร

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. มอบหมายให้นายเอกพงศ์ น้อยสร้าง รองเลขาธิการ ส.ป.ก. เป็นประธานพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมหลักสูตร นวัตกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาเจ้าหน้าที่ผู้พัฒนาเกษตรกรแก่ข้าราชการ "ส.ป.ก." ส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 40 ราย เจ้าหน้าที่ วิทยากร และผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 10 ราย รวมทั้งสิ้น 50 ราย

 

นอกจากนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ธนสาร ธรรมสอน ที่ปรึกษา รมช.การกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ผู้ทรงคุณวุฒิ), รศ.สุวิสา พัฒนเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ และนายวิวรรธน์ สงประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี มาร่วมให้แนวคิดในการพัฒนางานด้วยนวัตกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม รวมถึงการพัฒนาศักยภาพการจัดการและถ่ายทอดเทคโนโลยีในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

 

โดยการอบรมดังกล่าวจัดอบรมตั้งแต่วันที่ 5 และวันที่ 8-11 พฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom meeting ณ ห้องประชุม 704 ชั้น 7 อาคารวิทยบริการ สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ

 

ในการนี้นายเอกพงศ์ น้อยสร้าง รองเลขาธิการ ส.ป.ก.ร่วมบรรยายแนวคิด Impact Value Chain (IVC) Model หรือ ห่วงโซ่ผลลัพธ์ ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยสรุปภาพรวมที่แสดงความเชื่อมโยงขององค์ประกอบต่าง ๆ ในการดำเนินงานของโครงการประกอบไปด้วย  กิจกรรมหลักของโปรเจกต์หรือกิจการเพื่อสังคม(Activities) ทรัพยากรที่ใช้ในการทำกิจกรรม (Inputs) ผลผลิตระยะสั้นที่เกิดจากการทำกิจกรรม (Outputs) และในระยะยาวเมื่อเราสร้างผลผลิตอย่างต่อเนื่อง จะเกิดผลลัพธ์ทางสังคมอย่างไรบ้าง (Outcomes)

 

 

"ส.ป.ก." จับมือ ม.เกษตรฯ อบรมหลักสูตร  นวัตกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม

รองเลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า  การพัฒนาบุคลากรให้มีสมรรถนะสูง ก้าวทันเทคโนโลยี สู่การพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน  เป็นหนึ่งในพันธกิจที่สำคัญของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนางานบริหารจัดการพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน เพิ่มศักยภาพพื้นที่เกษตรกรรม และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรสู่ความผาสุก

"ส.ป.ก." จับมือ ม.เกษตรฯ อบรมหลักสูตร  นวัตกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม

ประกอบกับนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาลในช่วงนี้จึงเป็นโอกาสที่จะจัดให้มีกิจกรรมพัฒนาบุคลากรของ "ส.ป.ก." ด้วย  นวัตกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning  ซึ่งเป็นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ มีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์ นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ มีการฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริง เป็นผลให้พัฒนาตนเองได้เต็มความสามารถ

 

นอกจากนี้ ผู้เรียนจะมีส่วนร่วมในการสร้างองค์ความรู้ ความรู้เกิดจากประสบการณ์ มีการสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ร่วมมือกันผู้สอนจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนรู้ รวมไปถึงนวัตกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม และ Active Learning จะเป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาบุคลากรของ "ส.ป.ก." ที่เข้ารับการฝึกอบรมในครั้งนี้ ให้มีความพร้อมในการเป็นต้นแบบและขยายผลการขับเคลื่อนและบริหารการเปลี่ยนแปลงขององค์กรทั้งในปัจจุบันและอนาคต

 

โดยมีคณะอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นพี่เลี้ยง ผู้ให้ความรู้ เป็นผู้ให้คำแนะนำเชิงวิชาการ ที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนางาน เกิดผลสัมฤทธิ์ของงานต่อไปในอนาคต เป็นต้นแบบที่จะนำไปสู่การพัฒนางานของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

 

 

สำหรับการฝึกอบรมในครั้งนี้ จัดโดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม "ส.ป.ก." โดยกลุ่มพัฒนาบุคลากร (กพบ.) และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม เพื่อจัดทำและดำเนินงานนำร่องแนวทางการเพิ่มศักยภาพฐานเศรษฐกิจในยุคชีวิตวิถีใหม่ของเกษตรกร โดยการพลิกฟื้นและออกแบบนวัตกรรมการจัดการธุรกิจผลิตภัณฑ์คุณภาพในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อมุ่งเน้นการสนับสนุนองค์ความรู้ พัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพด้วยห่วงโซ่มูลค่าเพิ่ม พัฒนาเกษตรกรแกนนำ พัฒนาธุรกิจต้นแบบ ตลอดจนสร้างโอกาสทางการตลาด

 

นอกจากนี้มีการแต่งตั้งคณะทำงานพันธกิจความร่วมมือเพื่อพลิกฟื้นและออกแบบนวัตกรรมการจัดการธุรกิจผลิตภัณฑ์คุณภาพในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยมีหน้าที่เสนอแนะให้คำปรึกษา สนับสนุน ส่งเสริม ประสานงาน และร่วมดำเนินงานตามแผนปฏิบัติงาน

 

ทั้งนี้คณะทำงานชุดดังกล่าวจะมีผู้แทนจาก "ส.ป.ก." 7 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์, บึงกาฬ, พะเยา, พัทลุง, พิษณุโลก, ลำพูน และอุบลราชธานี คัดเลือกพื้นที่ที่มีความพร้อม เพื่อให้เป็นพื้นที่ชุมชนนำร่องระดับตำบลและเป็นต้นแบบความสำเร็จ รวมทั้งขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของ "ส.ป.ก." ตลอดจนร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานตามบทบาทภารกิจของ "ส.ป.ก." เพื่อเพิ่มศักยภาพพื้นที่เกษตรกรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

logoline