ข่าว

"กสม." เตือนปม "คลับเฮ้าส์ " ด้อยค่าคนอีสาน ชี้ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"กสม." ชี้ปม "คลับเฮ้าส์ toxic" อย่าด้อยค่าคนอื่น ไม่ว่าคนอีสาน คนภาคไหน หรือเชื้อชาติใด มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ชี้ สนุกคะนองปากอาจเข้าข่ายผิดหลายข้อหา

8 พ.ย.2564  ที่ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ   (กสม.) ชั้น 7 อาคารบี ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้กล่าวถึง กรณีที่มีการแสดงความคิดเห็นผ่านสังคมออนไลน์ คลับเฮ้าส์  เหยียดคนอีสาน "คลับเฮ้าส์ toxic" ว่า การดูถูกหรือด้อยค่าใครเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนอีสาน คนภาคไหน ๆ หรือว่าคนเชื้อชาติใด เพราะโดยหลักการแล้วทุกคนมีความเสมอภาค เท่าเทียมกัน และเราก็ต้องไม่ไปด้อยค่าด้อยศักดิ์ศรีของใคร

 

สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน มีมิติในเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีและเรามีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม เช่น อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วย การขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD) หรือ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW)

 

ที่สำคัญคือคน ทุกคนมีศักดิ์ศรี เราไม่อยากให้ใครด้อยค่าเรา เราเองก็ไม่ควรที่จะไปด้อยค่าใครหรือไปดูถูกเหยียดหยามคนอื่น ไม่ว่าเขาจะมีสีผิวต่างจากเรา สูงต่ำแตกต่างจากเรา ดำขาวแตกต่างจากเรา หรือว่าเขาจะมีการศึกษามากน้อยไม่เหมือนกับเรา หรือจะมีเชื้อชาติมีการนับถือศาสนาหรือมีความคิดทางการเมืองความคิดเห็นด้านต่าง ๆ แตกต่างจากเราก็ตาม ไม่ควรมีใครถูกด้อยค่า ถูกเหยียดหยามหรือถูกรังแก

 

 

ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ คนเรามีความเห็นแตกต่างกันได้และสามารถที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาข้อยุติหรือนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ สิ่งสำคัญ คือ ความเห็นที่แตกต่างกันไม่ควรที่จะนำไปสู่ความรุนแรง และความเห็นต่างนั้นไม่ควรนำไปสู่การบูลลี่หรือกลั่นแกล้ง รังแก ดูถูก เหยียดหยามกัน

 

โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ทุกวันนี้เราก็จะเห็นข้อคิดเห็น หรือการเสนอข้อเท็จจริงความคิดเห็นต่าง ๆ มากมาย  คนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับเราไม่ได้แปลว่าเขาผิด ไม่ได้แปลว่าเขาด้อยหรือเขาแย่กว่าเรา เขาอาจมีข้อมูลที่ไม่เหมือนกับเรา เขาอาจจะคิดไม่ตรงกับเรา

 

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการแลกเปลี่ยนข้อมูล การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การถกแถลงกันด้วยวิธีการที่เหมาะสม ไม่ใช่ไปบูลลี่หรือเบียดเบียนรังแกกัน แบบนั้นถือว่าเป็นอันตราย โลกออนไลน์เพิ่งมีมาไม่กี่ 10 ปี มีทั้งข้อดีและเสีย ข้อดีทำให้เราเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ อีกมากมาย ทำให้เราสามารถที่จะติดต่อกันได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็มีข้อเสีย สิ่งสำคัญที่สุดเราต้องเรียนรู้สื่อสารในโลกออนไลน์ในทางที่เป็นคุณ โดยไม่เสนอข่าวปลอมหรือข่าวเท็จ ที่เรียกว่า Fake news ไม่ใช้สื่อเพื่อนำไปสู่การกลั่นแกล้งรังแกที่เรียกว่า Cyberbullying ไม่นำไปสู่การสร้างความเกลียดชังที่เรียกว่า Hate Speech ถ้าสื่อออนไลน์เต็มไปด้วย Hate Speech ก็จะนำไปสู่ความแตกแยกอย่างรุนแรงและอาจนำไปสู่การฆ่าฟันกันได้ถ้าสังคมเต็มไปด้วยความเกลียดโกรธ ซึ่งกันและกัน

 

 

โซเชียลมีเดียหรือโลกออนไลน์ทำให้เราได้รับรู้ข่าวสารอย่างรวดเร็วและสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง สิ่งที่สำคัญคือเราต้องรู้จักกลั่นกรอง ต้องพยายามที่จะหาแหล่งข่าวอื่น ๆ มาเพื่อที่จะตรวจสอบข้อมูลด้วย สมัยก่อนสื่อ อาชีพเขาจะช่วยกันกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร มีนักข่าว มีหัวหน้าข่าว มีโปรดิวเซอร์ มีคนคอยช่วยกันกรองข่าวว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง อะไรสำคัญ อะไรน่าสนใจ แต่ทุกวันนี้ทุกคนสามารถที่จะเป็นสื่อเองได้ ดังนั้นเมื่อเราเป็นผู้รับสารโดยตรงจากใครต่อใครในโลกทั้งตัวจริงและตัวปลอม  เมื่อรับข่าวมาแล้วเราจึงต้องกรองข้อมูลก่อน อย่าหลงเชื่ออะไรง่าย ๆ และอย่ารับข่าวสารด้านเดียว อย่าฟังแต่เรื่องที่ถูกใจ แต่ควรจะฟังให้รอบด้านและหลากหลาย การเชื่ออะไรที่เร็วเกินไปก็อาจจะทำให้เราตัดสินใจในทางที่ผิดได้

 

ทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกเชื้อชาติ ทุกพื้นเพ ต่างเป็นมนุษย์ที่มีทั้งข้อดีข้อเสียเช่นเดียวกัน สิ่งสำคัญคืออย่าไปตีตราและเหมารวม หรือไปด้อยค่าคนอื่น อย่างเรื่องของการเหมารวมคนอีสาน ตนก็สังเกตมานาน เพราะบางครั้งละครก็สะท้อนภาพที่ออกไปในด้านดูถูกด้อยค่าของคนอีสาน เช่น คนอีสานจะต้องรับบทเป็นคนใช้ แต่จริง ๆ แล้ว มีคนอีสานที่ประสบความสำเร็จ ที่เป็นผู้บริหาร เป็นนักการเมือง หรือเป็นที่ยอมรับ เป็นคนที่ขับเคลื่อนสังคมบ้านเราอีกมากมาย ดังนั้นอย่าไปด้อยค่า หรือว่าอย่าไปตีค่าของคนอื่นต่ำโดยเฉพาะทำในลักษณะเหมารวม
 
นายวสันต์ กล่าวอีกว่า การแสดงความเห็นในโลกโซเชียล ไม่ควรสื่อสารแค่เพื่อความสนุกหรือคะนองปาก หรือพูดด้วยทัศนคติด้อยค่าคนอื่น เพราะอาจจะเจอหลายข้อหาตามมาด้วย เช่น ข้อหาหมิ่นประมาท การนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อหาสร้างปัญหาความวุ่นวายปั่นป่วน เป็นต้น ดังนั้น สิ่งสำคัญเราจะต้องใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

 

และในโลกไซเบอร์เมื่อมีการสื่อสารหรือโพสต์ข้อมูลไปแล้ว ข้อมูลนั้นก็ยังคงอยู่ ถึงแม้ว่าจะมีลบโพสต์ หรือข้อมูลไปแล้ว  แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังสามารถเรียกข้อมูลกลับมาได้ และสอบสวนจนทราบได้ว่าเป็นใคร แม้กระทั่งจะใช้บัญชีอวตารก็ไม่อาจรอดไปได้

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ