ข่าว

ที่ปรึกษานายกฯ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ลั่นขอปกป้อง "ม.112" ม.116 ตลอดไป

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ที่ปรึกษานายกฯและที่ปรึกษาหัวหน้า พปชร. พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ลั่นขอปกป้อง "ม.112" ม.116 ตลอดไป ซัดบางคนตั้งแต่เรียนกฎหมาย รับราชการจนได้ดิบได้ดีเป็นอัยการสูงสุด ไม่เคยแย้ง ทำไมต้องรอจนอายุปูนนี้หรือว่าเมื่อสวมเสื้อพรรคการเมืองแล้วสีน้ำเงินมันหายไปจริงๆ

วันที่ 2 พ.ย.64 จากกรณีที่นายชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย ออกจดหมายเปิดผนึกผ่านเพจพรรคเพื่อไทยยืนยันเจตนารมณ์พรรคเพื่อไทย พร้อมนำข้อเสนอแก้กฎหมายอาญา"มาตรา 112 " และมาตรา 116 เข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา

 

ล่าสุด นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุกส่วนตัว พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค - Pirapan Salirathavibhaga ระบุว่า

 

ระบอบประชาธิปไตยมิใช่มีเพียงการมีสิทธิเสรีภาพเท่านั้นแต่ระบอประชาธิปไตยต้องมีขอบเขตและมีกฎกติกาของการใช้สิทธิเสรีภาพด้วย โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพในการคิดและการพูด มิฉะนั้นก็จะทำให้เกิดข้อพิพาทวุ่นวายกันทั้งประเทศจนหาข้อยุติไม่ได้ นำไปสู่ความเสื่อมศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยในที่สุด การเคารพกฎกติกาจึงเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกันในระบอบประชาธิปไตย นั่นคือการเคารพกฎหมาย กฎหมายจึงเป็นสิ่งจำเป็นในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นกฎกติกาของการใช้สิทธิเสรีภาพให้อยู่ใน กรอบของความพอดี  ไม่ใช่ใช้สิทธิเสรีภาพเกินเลยจนไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นหรือทำร้ายผู้อื่น หรือทำให้บ้านเมืองเสียหาย

 

เรามีสิทธิเสรีภาพที่จะไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ของกฎหมายและลำพังแต่ “ความคิด” ไม่เห็นด้วยนี้ ไม่อาจทำให้เรามีความผิดและตกเป็นนักโทษตามกฎหมายได้ แต่ถ้าเราลงมือกระทำในสิ่งที่กฎหมายกำหนดเป็นความผิดเมื่อใดแล้ว นั่นคือการทำลายกติกาทำลายประชาธิปไตย ที่ทำให้เราต้องตกเป็นนักโทษและต้องรับโทษตามกฎหมาย นี่เป็นกฎกติกาของระบอบประชาธิปไตยในทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งหลักความรับผิดทางอาญาต้องมีองค์ประกอบครบ 3 ประการ คือ

 

1) คิดว่าจะกระทำการที่กฎหมายบัญญัติเป็นความผิด

 

2) ตกลงใจว่าจะกระทำตามที่คิดนั้น และ

3) ลงมือกระทำการนั้น

 

เพราะฉะนั้น เพียงแค่คิดแต่ไม่มีการลงมือกระทำ ก็ไม่มีความผิดอาญาและไม่มีโทษตามกฎหมาย

 

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มี “นักโทษทางความคิด” ในคุกไหนทั้งนั้น “นักโทษทางความคิด” ที่อยู่ในคุกจึงไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงการอุปโลกน์ดัดจริตเล่นสำนวนขององค์กรต่างชาติและนักการเมืองสั่ว ๆ ที่คิดเป็นแค่สร้างกระแสโหนกระแสเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตนเองโดยไม่มีความรับผิดชอบต่อศักดิ์ศรีและความเสียหายของชาติบ้านเมือง

 

กฎหมายอาญา"มาตรา 112" และมาตรา 116 เป็นกฎหมายที่เป็นกฎกติกาเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ซึ่งแต่ละประเทศทั่วโลกก็ล้วนมีกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐเช่นนี้ด้วยกันทั้งสิ้น ต่างกันก็แต่ในรายละเอียดและวัฒนธรรมประเพณี เช่น สเปน สวีเดน เดนมาร์ก บรูไน มาเลเซีย ภูฏาน หรือแม้แต่อังกฤษ และอีกหลายๆ ประเทศที่มีระบบกษัตริย์ ก็ล้วนแต่มีกฎหมายคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับ"มาตรา 112" ของไทยทั้งนั้น

 

สำหรับประเทศที่ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์แต่ใช้ระบบประธานาธิบดี  เช่นสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศในแถบยุโรป ก็มีกฎหมายที่เอาผิดจำคุกคนที่ดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายประธานาธิบดีของเขาเช่นกัน

 

และในบางคดีก็มีโทษมากกว่าโทษตาม"มาตรา 112" ของเราเสียด้วยซ้ำ แต่ทำไมไม่เห็นมีการเรียกร้องกล่าวหาของประชาชนในสหรัฐอเมริกาและในหลายๆ ประเทศเหล่านั้นว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นการจำกัดความคิดเห็นทางการเมือง ไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักความยุติธรรมของประเทศ ต้องยกเลิกให้หมด องค์กรต่างชาติที่เข้ามาวุ่นวายในบ้านเราก็ไม่เคยเช้าไปยุ่งวุ่นวายเรื่องนี้ในประเทศเหล่านั้น แล้วทำไมถึงต้องเข้ามาวุ่นวายแต่กับประเทศไทย ประเทศที่มีวันนี้ได้เพราะบรรพกษัตริย์และบรรพบุรุษนักรบของเราแลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิต

 


 

สำหรับมาตรา 116 ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐโดยตรง ความผิดตามมาตรา 116 มี 3 ประการ คือ ต้องเป็นการกระทำเพื่อ

 

1) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย

 

2) ทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และ

 

3) ทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

 

หากใครกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้นจนบ้านเมืองย่อยยับแต่คนทำไม่มีความผิด บ้านเมืองจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร คงไม่มีประชาชนที่เป็นพลเมืองดีและเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศคนไหนอยากให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟ เพราะฉะนั้น อย่าอ้างสั่วๆ ว่าประชาชนเรียกร้อง เพราะ"มาตรา 112" และมาตรา 116 ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการเมืองหรือความคิดทางการเมืองเลย

 

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ประชาชนคนทั่วไปก็เข้าใจได้ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องเป็นคนที่อยู่ในวงการกฎหมายหรือรับราชการจนได้ดิบได้ดีได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอัยการสูงสุดหรือตำแหน่งสูงสุดทางราชการใดๆ จึงจะเข้าใจได้ แต่แปลกที่บางคนตั้งแต่เรียนกฎหมายจนสอบได้เนติบัณฑิต ก็เข้าใจและไม่เคยเห็นแย้งกับหลักกฎหมายนี้ พอมารับราชการจนได้ดิบได้ดีเป็นใหญ่เป็นโตก็ยึดปฏิบัติตามหลักกฎหมายนี้ ไม่เคยพูดไม่เคยแสดงความคิดเห็นสักแอะว่าหลักกฎหมายนี้มันจำกัดความคิดเห็นทางการเมือง สร้างผลกระทบให้ประชาชน ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ทำให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศเสียหาย ไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักความยุติธรรมของประเทศ ต้องยกเลิกให้หมด ก็ถ้าคิดสั่ว ๆ แบบนี้จริง ๆ แล้วทำไมก่อนหน้านี้ตอนเรียนกฎหมาย ตอนอยู่ในตำแหน่งราชการ จึงไม่แสดงความเห็นออกมา ไม่เสนอให้ยกเลิก "มาตรา 112" มาตรา 116 เสียตั้งแต่ตอนนั้นล่ะ ทำไมต้องรอมาจนอายุปูนนี้ หรือว่าเมื่อสวมเสื้อพรรคการเมืองแล้วสีน้ำเงินมันหายไปจริงๆ

 

ใครไม่เอา "มาตรา 112" ไม่เอามาตรา 116 ก็แล้วแต่ แต่ผมเอา และจะปกป้องทั้งสองมาตรานี้ตลอดไป"

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ