ข่าว

เจ๋ง นักวิจัย "ม.วลัยลักษณ์" พัฒนาฟอนต์ไทย ประหยัดหมึกพิมพ์ได้ 30%

02 พ.ย. 2564

นักวิจัย "ม.วลัยลักษณ์" ออกแบบชุดตัวอักษรไทยประหยัดพลังงาน Thai Eco font ด้วยการลดปริมาณพื้นที่ภายในตัวอักษร พบว่าสามารถประหยัดมากถึง30% และคงความคมชัดไว้ได้ไม่แตกต่างจากเดิม พร้อมจดลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาและได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติแล้ว

ผศ.ดร.ทนงศักดิ์ อิ่มใจ อาจารย์สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี “ม.วลัยลักษณ์” เปิดเผยว่า ปัจจุบันหน่วยงานราชการต่างๆ ในประเทศไทยมีการใช้ฟอนต์ TH Sarabun กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งในแต่ละปีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มีค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อหมึกพิมพ์จำนวนมาก

ทีมวิจัย ม.วลัยลักษณ์

“ผมพร้อมด้วย ดร.ชิระวัฒน์ วัฒนพานิช และทีมนักวิจัยสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มวล. จึงเกิดแนวคิดในการออกแบบชุดตัวอักษรไทยประหยัดพลังงาน (Thai Eco font) ทำอย่างไรเพื่อลดการใช้หมึกพิมพ์ให้ได้มากที่สุดแต่ยังคงความคมชัดของตัวอักษรไว้ได้เช่นเดิม”ผศ.ดร.ทนงศักดิ์ กล่าว

ทีมวิจัยจึงได้ร่วมกันพัฒนาและออกแบบชุดตัวอักษรไทยประหยัดพลังงาน (TH Imjai-Ecofont) โดยได้นำฟอนต์ที่ใช้ในงานราชการ คือ TH Sarabun มาพัฒนาและออกแบบพร้อมกับทดสอบประสิทธิภาพการประหยัดหมึกพิมพ์

 

โดยการออกแบบการลดขนาดพื้นที่ภายในชิ้นส่วนย่อยๆ ในแต่ละตัวอักษร และทำการวิเคราะห์เพื่อลดปริมาณ Black Pixel ลงให้ได้มากที่สุดโดยวิธีประมวลผลภาพถ่าย แต่ยังความคมชัดที่ขนาดตัวอักษรในงานเอกสารทั่วไป

เจ๋ง นักวิจัย \"ม.วลัยลักษณ์\" พัฒนาฟอนต์ไทย ประหยัดหมึกพิมพ์ได้ 30%

ซึ่งผลการทดสอบพบว่า Thai Eco font สามารถประหยัดหมึกพิมพ์ได้ร้อยละ 30 ที่สำคัญยังคงความคมชัดโดยที่ผู้อ่านไม่สามารถสังเกตเห็นการลดลงของพื้นที่ภายใน ที่ขนาดตัวอักษรสูงสุดเท่ากับ 18 pt และได้เปรียบเทียบกับอักษรโรมัน ซึ่งผลการวิจัยได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารนานาชาติ Sustainability 2021 (Scopus Q1)

“ในการวิจัยนี้การทดสอบประสิทธิภาพการประหยัดหมึกพิมพ์ได้ใช้โปรแกรม Apfill สำหรับวิเคราะห์ปริมาณหมึกในการพิมพ์ในหน้ากระดาษแต่ละประเภทตัวอักษร เพื่อวิเคราะห์ปริมาณหมึกของกระดาษขนาด A4 (80แกรม) พิมพ์เฉพาะตัวอักษรเต็มหน้า ใช้ฟอนต์ TH Sarabun และ Eco font และสแกนความละเอียดสูง 300 dpi พบว่ากระดาษที่ใช้ฟอนต์ Thai Eco font สามารถประหยัดหมึกได้ร้อยละ 30” ผศ.ดร.ทนงศักดิ์ กล่าว

 

ผศ.ดร.ทนงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทีมวิจัยได้ทำการจดทะเบียนลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว และได้พัฒนารูปแบบตัวอักษร Thai Eco font รุ่น 1.0 ให้ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดใช้งานได้ฟรี จำนวน 1 รูปแบบ(https://drive.google.com/file/d/1tHmtVDItz8_FUowe6eycAlQ6v2lkbW-Z/view)

 

ทั้งนี้ฟอนต์ดังกล่าวถือเป็นทางเลือกในการประหยัดวัสดุสิ้นเปลืองประเภทหมึกพิมพ์ในหน่วยงานได้อย่างยั่งยืนต่อไป