ข่าว

"นายกฯ" เชิญ โจ ไบเดน มาไทย พ.ย.ปีหน้า ร่วมประชุมเอเปค

"นายกฯ" เชิญ โจ ไบเดน มาไทย พ.ย.ปีหน้า ร่วมประชุมเอเปค

02 พ.ย. 2564

"นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา" เชิญ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน มาไทย พ.ย.ปีหน้า เพื่อร่วมประชุม เอเปค ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ด้านนายกฯอังกฤษ ชม ไทยมุ่งแก้ปัญหาโลกร้อน

2 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 21.00 น.ของวันที่ 1 พ.ย. ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร (ตรงกับเวลา 04.00 น.ของประเทศไทย เวลาที่เมืองกลาสโกว์ช้ากว่าประเทศไทย 7 ชั่วโมง ) ระหว่างงานเลี้ยงรับรองผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 ( COP26)

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา "นายกรัฐมนตรี" และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พบปะพูดคุยกับ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ระหว่างงานเลี้ยงรับรองผู้นำ COP 26 หลังจากได้พบกันในการประชุมสุดยอดอาเซียนสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งเชิญมาเยือนไทยในโอกาสที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation ) ในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า นอกจากนี้ได้มีการสอบถามถึงสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งเชิญประธานาธิบดีไบเดน


นอกจากนี้ "นายกรัฐมนตรี" ได้ทักทายพูดคุยกับ นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ซึ่งนายบอริส ชื่นชมในความมุ่งมั่นพยายามของไทยในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยไทยตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 พร้อมทั้งขอบคุณ "นายกรัฐมนตรี" ที่มาร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

 

ก่อนหน้านี้ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ" กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้


"นายกฯ" ยืนยันไทยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญของโลก เพื่ออนาคตของลูกหลาน
.

ในปี 2019 ไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 17% หลังตั้งเป้าลดให้ได้อย่างน้อย 7% ภายในปี 2020 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 2 เท่า หลังให้สัตยาบันเป็นภาคีของความตกลงปารีส เมื่อปี 2015
.

ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2065
.

เราทุกคนไม่มี “แผนสอง”ในเรื่องการรักษาเยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มี “โลกที่สอง” ซึ่งเป็นบ้านของพวกเราเหมือนโลกนี้อีกแล้ว จึงขอให้ทุกประเทศร่วมกันดูแลรักษาโลกของเรา