
ปคบ.-สธ. จับโรงพยาบาลเอกชน ลักลอบขาย "ยาฟาวิพิราเวียร์" ออนไลน์
ตำรวจ ปคบ. พร้อมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แถลงจับกุม รพ.เอกชน ลักลอบนำ "ยาฟาวิพิราเวียร์" ไปขายออนไลน์ เตรียมเรียก ผอ.โรงพยาบาลเข้ารับทราบข้อหา วันพฤหัสฯที่ 4 พ.ย.
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 1 พ.ย.2564 ที่ บก.ปคบ. พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พร้อมด้วย นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภก.กิตติ ระหงษ์ ผอ.กองการขายถาคเอกชน ฝ่ายการตลาดและการขาย องค์การเภสัชกรรม และ พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. แถลงการขยายผลกรณีจับกุมลักลอบนำ "ยาฟาวิพิราเวียร์" จาก รพ.ออกมาขายทางออนไลน์
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค , ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา , กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และองค์การเภสัชกรรม ร่วมกันแถลงผลการขยายผลการตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งย่านบางกะปิ ที่พบว่ามีการลักลอบนำ "ยาฟาวิพิราเวียร์" ออกมาจำหน่ายนอกโรงพยาบาลโดยไม่รับอนุญาต
โดยหนึ่งในผู้ต้องหาที่เป็นระดับผู้จัดการของโรงพยาบาลดังกล่าว ได้ให้การซัดทอดว่า ได้ติดต่อซื้อ "ยาฟาวิพิราเวียร์" จากผู้บริหารระดับสูงของโรงพยาบาล จากนั้นจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอนุมัติหมายค้น เข้าตรวจสอบที่โรงพยาบาลดังกล่าว ในวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา พบหลักฐานเป็นเอกสารในการสั่งซื้อ "ยาฟาวิพิราเวียร์" ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม แต่ไม่พบประวัติการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แต่อย่างใด
และจากการสอบสวนพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่พบว่าโรงพยาบาลดังกล่าวมีผู้ป่วยโควิด-19 มารับการรักษาแต่อย่างใด ซึ่งพนักงานสอบสวนก็ได้ออกหมายเรียกให้ผู้บริหารโรงพยาบาลคนดังกล่าว ให้มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ โดยเบื้องต้นจะดำเนินคดีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 , พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และ พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 "ยาฟาวิพิราเวียร์"
พล.ต.ต.อนันต์ ฝากเตือนให้ประชาชนควรมีความระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 เนื่องจากพบว่ามีผู้ฉวยโอกาสนผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพ และไม่ได้รับอนุญาต มาหลอกขายตามท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ควรเลือกซื้อจากร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตจะดีที่สุด โดยประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสมาได้ที่สายด่วน ปคบ. 1135 หรือ เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค เพื่อตำรวจจะได้เข้าดำเนินการตรวจสอบจับกุมต่อไป "ยาฟาวิพิราเวียร์"
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยว่า ฝากเตือนให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งดำเนินกิจการอย่างมีจริยธรรม และจัดหายาให้ผู้ป่วยให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์โดยทุจริต "ยาฟาวิพิราเวียร์"
ด้านเภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จะตรวจสอบรายงานการซื้อขาย "ยาฟาวิพิราเวียร์" ขององค์การเภสัชกรรม ที่ขายให้กับโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อดูความผิดปกติของการขายว่า มีการรั่วไหลออกนอกระบบหรือไม่ หากพบจะดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด
ในส่วนของประชาชน "ยาฟาวิพิราเวียร์" ยี่ห้อฟาเวียร์ ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ปัจจุบันมีจำนวนเพียงพอ จึงเป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่าย และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ขอย้ำว่า อย่าซื้อยาทางสื่อออนไลน์มารับประทานเองโดยเด็ดขาด การใช้ยาที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ง่าย ส่งผลให้ใช้ยาไม่ได้ผลเมื่อเกิดการติดเชื้อ
สำหรับการขยายผลครั้งนี้ สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ตำรวจ บก.ปคบ. และ อย. ได้ทลายเครือข่ายลักลอบจำหน่ายยาฟาเวียร์ทางสื่อออนไลน์โดยผิดกฎหมาย โดยเข้าตรวจค้นเป้าหมาย 8 จุด ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร สระบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี จับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งหมด 9 คน พร้อมยึดของกลาง "ยาฟาวิพิราเวียร์" จำนวน 390 กล่อง
โดยยาของกลางดังกล่าว เล็ดลอดออกมาโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมานคร โดยมีคนในซึ่งเป็นระดับผู้จัดการ ซื้อออกมาจำหน่ายเอง เอากำไรต่อเป็นทอดๆ โดยใช้ช่องทางออนไลน์ ราคาต้นทุนที่โรงพยาบาลเอกชนรับซื้อจากองค์การเภสัชกรรม อยู่ที่ราคากล่องละ 1600 บาท จากนั้นผู้จัดการของโรงพยาบาลดังกล่าวได้ซื้อต่อมาราคากล่องละ 2000 บาท เพื่อนำมาขายต่อ โดยปลายทางมีราคาพุ่งสูงขึ้น 5000 ถึง 8000 บาท "ยาฟาวิพิราเวียร์"