ข่าว

วช. ยก จ.แพร่ ต้นแบบใช้ "นวัตกรรม" ปลูกพืชเศรษฐกิจ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วช. ยกจ.แพร่ ต้นแบบใช้ "นวัตกรรม" ปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมกับเห็ดป่าไมคอร์ไรซาสร้างรายได้สู่ชุมชน ตามมติคณะรัฐมนตรี ในการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้มีค่า

31 ต.ค. 64 ณ ศูนย์เรียนรู้พื้นที่ต้นแบบ ชุมชนไม้มีค่า บ้านบุญแจ่ม ต.น้ำเลา อ.ร้องกวาง จ.แพร่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)และมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ ถ่ายทอดเทคโนโลยี และ "นวัตกรรม" การปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซา พร้อมเปิดศูนย์เรียนรู้พื้นที่ต้นแบบ ชุมชนไม้มีค่า เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน

 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลัก รับโจทย์และสนับสนุนการบูรณาการการขับเคลื่อน โครงการชุมชนไม้มีค่า ตามมติคณะรัฐมนตรี ในการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้มีค่า เพื่อสร้างแหล่งอาหารและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน 

 

โดย วช. ได้นำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและ "นวัตกรรม" มาช่วยสนับสนุน และขยายผลให้นักวิจัยทำงานร่วมกับพื้นที่และหน่วยงานอื่น ๆ ดำเนินการในรูปแบบให้เกิดกล้าไม้ ขยายผลให้มีพืชทางเลือกภายใต้ร่มเงาไม้มีค่า ซึ่งการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซาเป็นหนึ่งในความเชี่ยวชาญของนักวิจัย จาก วว. ผสานการทำงานร่วมกับพี่น้องเกษตรกร โดยใช้ต้นทุนไม่สูงเป็นอาชีพที่เกษตรกรคุ้นเคย มีมูลค่าทางการตลาดสูง อีกทั้งพื้นที่ชุมชนบ้านบุญแจ่มแห่งนี้ยังมีความเหมาะสมกับการเพาะปลูกเห็ดดังกล่าวอีกด้วย

วช. ยก จ.แพร่ ต้นแบบใช้ "นวัตกรรม" ปลูกพืชเศรษฐกิจ
 

 

วช. ยก จ.แพร่ ต้นแบบใช้ "นวัตกรรม" ปลูกพืชเศรษฐกิจ

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า วว.มีประสบการณ์ด้านการวิจัยเห็ดมานานกว่า 20 ปี เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับป่าชุมชนในการส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าให้ชุมชนเกษตรกรรักษา อาศัยประโยชน์จากป่า ทำให้งานวิทยาศาสตร์ วิจัยและ "นวัตกรรม" ของ วว.ได้ลงสู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมเกิดความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและชุมชนเป็นอย่างดี นับเป็นการขับเคลื่อน BCG Model ของประเทศเพื่อให้คนไทยได้มีแหล่งอาหารที่ปลอดภัยและป่าที่อุดมสมบูรณ์

 

วช. ยก จ.แพร่ ต้นแบบใช้ "นวัตกรรม" ปลูกพืชเศรษฐกิจ

ด้านนายสุรพล วงศ์สุขพิศาล ปลัดจังหวัดแพร่ กล่าวว่า "นวัตกรรม"การปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซา เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ส่งผลให้ชาวบ้านเกิดการเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ในท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม สร้างแหล่งอาหาร โดยการปลูกไม้เศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ดป่า เข้ามาหนุนเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน จนได้เป็นชุมชนแบบอย่างด้านการพัฒนา ด้วยป่าชุมชนบ้านบุญแจ่มที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำและป่าไม้เป็นอันดับต้น ๆ ของจังหวัดแพร่ นำมาสู่การเปิดศูนย์เรียนรู้พื้นที่ต้นแบบ ชุมชนไม้มีค่า บ้านบุญแจ่ม ในวันนี้

วช. ยก จ.แพร่ ต้นแบบใช้ "นวัตกรรม" ปลูกพืชเศรษฐกิจ


 

พร้อมกันนี้ ดร.สุจิตรา โกศล นักวิจัยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ เผยความคืบหน้าโครงการฯ โดยยอมรับว่า พืชผักในพื้นที่ป่าเป็นแหล่งอาหาร และสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านโดยเฉพาะเห็ดไมคอร์ไรซา เช่น เห็ดเผาะ เห็ดระโงก เห็ดตะไคล เห็ดน้ำหมาก เห็ดน้ำแป้ง เห็ดถ่าน ที่เจริญและเกิดดอกโดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างรากับระบบรากของพืชชั้นสูงแบบเกื้อกูลกันแต่เมื่อพื้นที่ป่าต้นน้ำถูกบุกรุก ทำลายเพื่อทำการเกษตรเชิงเดี่ยวจนถึงขั้นวิกฤตจึงกระทบไปถึงการให้ผลผลิตของอาหารป่าและสภาพภูมิอากาศโลกด้วย

 

ดังนั้นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชไม้มีค่าหรือพืชเศรษฐกิจในชุมชน ไปพร้อม ๆ กับการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซา ในรูปแบบของวนเกษตรอินทรีย์ จึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมชุมชนลดการใช้สารเคมี สามารถสร้างรายได้ได้ทั้งรายวัน รายเดือนและรายปี จากการเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งสองประเภท สร้างความมั่นคง ด้านอาหารชุมชนและระบบนิเวศป่า

 

สำหรับชุมชนบ้านบุญแจ่ม คณะนักวิจัย พบเห็ดพื้นบ้านป่าที่สามารถกินได้ จำนวน 9 สกุล 16 ชนิด เช่น เห็ดน้ำหมาก เห็ดหน้าม่อย เห็ดน้ำแป้ง ร้อยละ 75 ของเห็ดที่กินได้ จัดเป็นเห็ดไมคอร์ไรซาที่พบเฉพาะในป่าเต็ง-รัง ซึ่งมีไม้วงศ์ยาง ได้แก่ เต็ง รัง และยางพลวง คณะนักวิจัย จึงจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการเพาะเห็ดป่าไมคอร์ไรซา

 

อาทิ การเตรียมกล้า การผลิตและเติมหัวเชื้อ การเตรียมพื้นที่ ตลอดจนการบำรุงดูแล พืชยืนต้น อาทิ ยางนา สัก ตะเคียนทอง พืชไม้ผล อาทิ ผักกูด มะม่วงหิมพานต์ กาแฟ และพืชประดับตกแต่ง เพื่อสร้างโครงการต้นแบบให้เกษตรกรและพื้นที่อื่นที่สนใจโดยทดลองนำเชื้อเห็ดตับเต่าดำ ที่เพาะเลี้ยงเส้นใยบนเมล็ดข้าวฟ่าง หรือ บนอาหารเลี้ยงเชื้อเหลว ไปใส่ลงบริเวณโซนรากของต้นหางนกยูงไทย ซึ่งเป็นพืชอาศัยของเห็ดตับเต่าอายุ 1 ปี และดูแลให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้เห็ดตับเต่าเจริญออกดอก ให้ผลผลิตจำนวนมากตลอดทั้งปีช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับคนในชุมชนเป็นอย่างดี
  

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ