ข่าว

ย้อนประวัติ 170 ปี "วัดสร้อยทอง" ก่อนเกิดประเด็นร้อนปมตำแหน่งเจ้าอาวาส

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนประวัติ 170 ปี "วัดสร้อยทอง" ก่อนเกิดประเด็นร้อน ปมตำแหน่งเจ้าอาวาส ที่ทำให้ "พระมหาไพรวัลย์" หลั่งน้ำตากลางไลฟ์สด

จากกรณี พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ไลฟ์สด ประกาศเตรียมสละสมณเพศ หลังจากทราบว่า "พระราชปัญญาสุธี" ซึ่งรักษาการแทนเจ้าอาวาส "วัดสร้อยทอง" ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส จนเกิดเป็นประเด็นดราม่าทางสังคม และบนโลกโซเชียล ทำให้ชื่อของ "วัดสร้อยทอง" กลายเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังจาก "พระมหาสมปอง" และ "พระมหาไพรวัลย์" พระลูกวัด ได้สร้างกระแสมาแล้ว "คมชัดลึกออนไลน์" จะพาไปทำความรู้จัก "วัดสร้อยทอง" ในแง่มุมต่าง ๆ ให้มากขึ้น

 

ย้อนประวัติ 170 ปี "วัดสร้อยทอง" ก่อนเกิดประเด็นร้อนปมตำแหน่งเจ้าอาวาส
 

"วัดสร้อยทอง" หรือ วัดสร้อยทองพระอารามหลวง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ นิกายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมถนนประชาราษฎร์ สาย 1 เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร เดิมชื่อ "วัดซ่อนทอง" เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2394 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

 

"วัดสร้อยทอง" ไม่ปรากฏนามและประวัติของผู้สร้าง แต่มีข้อสันนิษฐานว่า คงเป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจาก เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) ภายในวัดมีปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ พระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะทองเหลือง นามว่า "หลวงพ่อเหลือ" สร้างจากโลหะที่เหลือจากการหล่อพระประธาน ในปี พ.ศ. 2445 ภายในเกศบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ของพระอรหันต์ 5 พระองค์

 

ในปี พ.ศ. 2445–2447 วัดซึ่งในขณะนั้น มี หลวงปู่เบี้ยว เป็นเจ้าอาวาสวัด ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ มีประชาชนชาวไทยและชาวญวน เป็นกำลังสำคัญในการบูรณะช่วงเวลาดังกล่าว โดยใช้งบประมาณ 10,000 บาท, ในวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2488 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สะพานพระราม 6 ได้ถูกทิ้งระเบิดลง โดยฝ่ายสัมพันธมิตร โดยมีระเบิดจำนวน 14 ลูก ตกใส่บริเวณวัดสร้อยทองได้รับความเสียหายอย่างมหาศาล มีสิ่งที่เหลือรอดพ้นจากระเบิดเพียงแค่ พระพุทธรูป "หลวงพ่อเหลือ" หอระฆัง และเจดีย์ริมคลองบางซ่อน เท่านั้น

 

ในวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2545 "วัดสร้อยทอง" ได้รับการยกฐานะจากวัดราษฎรเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ซึ่งได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 18 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ปัจจุบันวัดมีพื้นที่รวม 15 ไร่ 3 งาน 78 ตารางวา โดยมี "พระราชปัญญาสุธี" (อุทัย ญาโณทโย ปธ.9) รักษาการเจ้าอาวาส

 

ย้อนประวัติ 170 ปี "วัดสร้อยทอง" ก่อนเกิดประเด็นร้อนปมตำแหน่งเจ้าอาวาส

ลำดับเหตุการณ์ในอดีต

 

  • พ.ศ. 2444 แต่งตั้งนายเจิม สารวัด เป็นมรรคนายก ต่อมาได้รับยศเป็นหลวงนิกรมบริรักษ์
  •  พ.ศ. 2445-2447 บูรณะปฏิสังขรณ์วัดสร้อยทองครั้งใหญ่ ใช้งบประมาณในขณะนั้น เป็นเงิน 10,000 บาท
  •  พ.ศ. 2450 ขยายโรงเรียน สมาคมพิทยากร ที่ตั้งขึ้นในวัดสร้อยทอง
  • พ.ศ. 2454-2455 สร้างพระประธานในโบสถ์ขึ้นใหม่ โดยหล่อเททองพร้อมกับพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ และองค์หลวงพ่อเหลือ 
  • พ.ศ. 2456 หลวงนิกรมบริรักษ์ลาออกจากตำแหน่งมรรคนายก เพราะย้ายไปรับราชการที่อื่น
  •  พ.ศ. 2459 นายกลิ่นเป็นมรรคนายก
  • พ.ศ. 2463 มีการเวนคืนที่ธรณีสงฆ์วัดสร้อยทอง เพื่อสร้างสะพานพระรามหก
  • พ.ศ. 2469 หลวงปู่เบี้ยว มรณภาพ
  • พ.ศ. 2469-2472 พระมหาละเอียด ธมฺมปาโล รักษาการเจ้าอาวาส
  • พ.ศ. 2472 หลวงพ่อรวย สุวณฺโณ เป็นเจ้าอาวาสวัดสร้อยทอง 
  • พ.ศ. 2485 เกิดน้ำท่วมใหญ่ เป็นเวลาแรมเดือน
  • พ.ศ. 2488 วันที่ 2 มกราคม สะพานพระรามหกถูกทิ้งระเบิดขาดสะบั้นลง โดยพันธมิตร (อเมริกาและอังกฤษ) มีลูกระเบิดจำนวน 14 ลูก ตกใส่บริเวณวัดสร้อยทองได้รับความเสียหายยับเยิน มีสิ่งที่เหลือรอดพ้นจากระเบิดคือพระพุทธรูปหลวงพ่อเหลือ หอระฆัง และเจดีย์ริมคลองบางซ่อน ก่อนที่จะมีการทิ้งระเบิดได้มีการอพยพหนีภัยของชาวบ้านและพระภิกษุ ไปในที่ต่าง ๆ กันโดยพระภิกษุวัดสร้อยทอง ไปอยู่ที่วัดบ้านกั่ว ปทุมธานี
  • ปัจจุบัน 2564  พระราชปัญญาสุธี(อุทัย ญาโณทโย ปธ.9) รักษาการเจ้าอาวาส

 

การแบ่งเขตปกครองภาค

 

ตามข้อ 4 แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2535) ว่าด้วยอำนาจและเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค กำหนดให้มีจำนวนภาค 18 ภาค และให้รวมเขตปกครองจังหวัดต่าง ๆ เป็นเขตปกครองภาค โดย "วัดสร้อยทอง" เป็นวัดฝ่ายมหานิกาย จึงอยู่ในสังกัดเจ้าคณะภาค 1 "พระธรรมวชิรเมธี" (มีชัย วีรปญฺโญ) วัดหงส์รัตนาราม จังหวัดกรุงเทพมหานคร
 

ย้อนประวัติ 170 ปี "วัดสร้อยทอง" ก่อนเกิดประเด็นร้อนปมตำแหน่งเจ้าอาวาส

 

 

ที่มา : วิกิพีเดีย

        : มหาเถรสมาคม

logoline