ข่าว

"นายกฯ" บูสเข็ม 3 ไฟเซอร์ ก่อนเดินทางไปประชุมที่สกอตแลนด์ 31 ต.ค.นี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"นายกฯ" บูสเข็ม 3 ไฟเซอร์ ก่อนเดินทางร่วมประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 ที่กลาสโกว์ สกอตแลนด์ 31 ต.ค. นี้ หลังฉีดอาการปกติ นายกฯ พยักหน้า บอกโอเค

ช่วงเช้าวันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมฉีดวัคซีน Booster (เข็ม 3 ) mRNA ยี่ห้อไฟเซอร์ สถาบันบําราศนราดูร โดยมีนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิตปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ฉีดให้ และเปิดเผยว่า หลังการฉีดนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีอาการอะไรใดๆ ยังคงสุขภาพแข็งแรง

 

โดยเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นอย่างไรบ้าง  "นายกฯ" พยักหน้าพร้อมกล่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ว่า ก็โอเค มีภารกิจที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ก็ต้องได้รับการฉีดวัคซีน และผู้นำต่างประเทศทุกคนได้รับการฉีดวัคซีน

 

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า "นายกรัฐมนตรี"จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็ม 3 เนื่องจากจะต้องเดินทางเข้าร่วมการประชุมCOP 26 หรือ การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-12 พฤศจิกายน 2564 ที่ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร

 

โดย"นายกรัฐมนตรี"จะเดินทางจากประเทศไทยในช่วงค่ำของวันที่ 31 ตุลาคม และเดินทางกลับในวันที่ 3 พฤศจิกายน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มแรกๆในการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ Booster เข็มที่ 3 นอกเหนือจากบุคลากรทางการแพทย์

 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า "นายกรัฐมนตรี" มีกำหนดการเดินทางนำคณะผู้แทนไทย ประกอบด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางไป เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) สมัยที่ 26 ระหว่างวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2564 

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า ในการประชุมระดับผู้นำ COP 26 ครั้งนี้ "นายกรัฐมนตรี" จะได้ร่วมกล่าวสุนทรพจน์แสดงวิสัยทัศน์ของไทยต่อความท้าทายสำคัญของโลก เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ "นายกรัฐมนตรี"จะได้นำเสนอยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย (Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy: LT-LEDS) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงปารีส และย้ำให้ประชาคมโลกทราบถึงเป้าหมายของไทย และการดำเนินการที่แข็งขันของไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

 

เป็นโอกาสที่ นายกรัฐมนตรีจะได้แสดงบทบาท และความมุ่งมั่น ร่วมกับนานาประเทศในการตระหนักและการกำหนดนโยบายเพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาใหญ่และส่งผลกระทบกับชีวิต และทรัพย์สินของทุกคนในโลกโดยในปีนี้ สหราชอาณาจักรจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม COP26 ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 12 พฤศจิกายน 2564

 

ซึ่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรได้เชิญประมุขและผู้นำรัฐบาลจากทั่วโลกมากกว่า 120 ประเทศ ตลอดจนผู้แทนและเจ้าหน้าที่ระดับสูงรวมกว่า 25,000 คน เข้าร่วมการประชุมด้วย คำเชิญดังกล่าวแสดงถึงความสำคัญสำหรับผู้นำระดับโลกในการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมที่มุ่งเป้าไปที่การบรรลุเป้าหมาย COP ที่ประสบความสำเร็จและการดำเนินการที่ประสานกันเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
 

logoline