ข่าว

นายกฯขอ "อาเซียนบวกสาม" ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอ "อาเซียนบวกสาม" ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมกับเสนอ 4 แนวทาง ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับประชาคมเอเชียตะวันออกที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

วันนี้(27 ตุลาคม 2564) เวลา 14.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอด "อาเซียนบวกสาม" ครั้งที่ 24 ผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมผู้นำจากสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

 

ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลียินดีที่อาเซียนบวกสามมีความร่วมมือในการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ซึ่งสาธารณรัฐเกาหลีได้บริจาคเงินในกองทุนอาเซียนอีก 5 ล้านเหรียญสหรัฐและสนับสนุนการกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียมและครอบคลุม 

 

ด้านนายกรัฐมนตรีจีน ยินดีที่ "อาเซียนบวกสาม" มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจโดยได้ลงนาม RCEP สะท้อนความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายที่ต้องการส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพ รักษาพลวัตความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออก 

 

สำหรับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยินดีที่ได้ร่วมประชุมสุดยอด"อาเซียนบวกสาม"เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นกลไกที่สร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ทั้งความร่วมมือในการป้องกันโรคโควิด-19 การเสริมสร้างความมั่นคงมนุษย์ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจจากการลงนาม RCEP นอกจากนี้ญี่ปุ่นหวังว่าสมาชิก"อาเซียนบวกสาม"จะร่วมกันแก้ปัญหาบนคาบสมุทรเกาหลี เพื่อให้เกิดความมั่นคงและสันติภาพในภูมิภาค

 


 

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบของต่อชีวิตวิถีเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ทุกคนต้องปรับตัวให้เข้ากับ ชีวิตวิถีใหม่ และร่วมกันรับมือกับความท้าทายอย่างต่อเนื่องด้วยความจำเป็น อย่างไรก็ตาม "อาเซียนบวกสาม" มีจุดแข็งที่การตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวผ่านบททดสอบมาแล้วหลายครั้งและไทยเชื่อมั่นว่าประเทศสมาชิกจะสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อีกครั้ง

 

โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้เสนอ 4 แนวทาง ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับประชาคมเอเชียตะวันออกที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ดังนี้

 

ประการแรก สานต่อให้กรอบ "อาเซียนบวกสาม"เป็นกรอบความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาคในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ผ่านกลไกความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการรับมือกับ

 

ประเด็นท้าทายในทุกมิติทั้งด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไทยพร้อมร่วมจัดทำแผนงานความร่วมมือ "อาเซียนบวกสามฉบับใหม่" สำหรับปี ค.ศ. 2023-2027 และพิจารณาจัดตั้งกลุ่มวิสัยทัศน์เอเชียตะวันออกรุ่นใหม่ ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศ "อาเซียนบวกสาม" เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เป็นประโยชน์ในการพิจารณาแนวทางในการก้าวสู่ Next Normal ร่วมกันต่อไป

 


 


 

ประการที่สอง ความร่วมมือจากประเทศบวกสามในการรับมือกับโควิด-19 ที่มีอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกรอบอาเซียนและทวิภาคี เป็นแรงผลักดันสำคัญในการรับมือกับความท้าทายนี้ โดยเฉพาะการสนับสนุนกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 ซึ่งจะนำไปใช้จัดสรรวัคซีนและเวชภัณฑ์ให้แก่ประชาชนในภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

ทั้งนี้ผลกระทบของ โควิด-19 ย้ำเตือนให้รอบคอบจึงต้องเตรียมพร้อมสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในอนาคตอย่างรอบด้าน ซึ่งประเทศบวกสามสามารถช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในเรื่องนี้แก่ภูมิภาคได้โดยเฉพาะด้านวัคซีน ยา การวิจัยและพัฒนา การสำรองเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตลอดจนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข

 

นอกจากนี้ การดูแลสุขภาพจิตของประชาชนเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งที่ประชุมฯ จะรับรองแถลงการณ์ "ผู้นำอาเซียนบวกสาม"ว่าด้วยความร่วมมือด้านสุขภาพจิตของวัยรุ่นและเด็กร่วมกันในวันนี้ และไทยพร้อมที่จะดำเนินการตามแถลงการณ์ โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพจิตของวัยรุ่นและเด็กซึ่งเป็นอนาคตของทุกประเทศ

 

ประการที่สาม ความร่วมมือจากกลุ่มประเทศบวกสามจะเป็นการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน บูรณาการทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะการผลักดันให้ความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้โดยเร็วและการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจและเทคโนโลยีดิจิทัลโดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพให้แก่ MSMEs, start-ups และผู้ประกอบการท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนการสานต่อข้อริเริ่มการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เป็นต้น

 

ซึ่งนายกรัฐมนตรียังเสนอให้ต่อยอดการพัฒนาความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation : CMIM) ด้วยนวัตกรรมทางการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินการคลัง และพัฒนาโครงการสำรองข้าว"อาเซียนบวกสาม"(ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserves - APTERR) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ในขณะเดียวกัน ควรพัฒนากลไกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน แสวงหาแนวทางใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ อาทิ การสอดประสานนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมประเทศบวกสามกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG

 

ไทยกำลังก้าวสู่ Next Normal ด้วยการพลิกโฉมประเทศไทย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ขณะเดียวกันก็มุ่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่เอื้อต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมที่ยั่งยืนจากผลกระทบของโควิด-19 ตลอดจนขับเคลื่อนความพยายามในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นภัยคุกคามร่วมกัน

 

ประการสุดท้าย สันติภาพที่ยั่งยืนเป็นพื้นฐานของความแข็งแกร่งระยะยาว โดยไทยส่งเสริมให้ทุกฝ่ายมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างสร้างสรรค์ และยึดมั่นในความเป็นแกนกลางของอาเซียน นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำเจตนารมณ์และความพร้อมของไทยในการสนับสนุนกระบวนการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี และหวังที่จะเห็นพัฒนาการเชิงบวกและความคืบหน้าในการเจรจาเพื่อนำไปสู่การทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์

 

ในช่วงท้าย ในโอกาสที่จะครบรอบ 25 ปี"อาเซียนบวกสาม" ในปีหน้า นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศบวกสามที่เข้มแข็งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างประชาคมเอเชียตะวันออกที่แข็งแกร่ง ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนและความไพบูลย์ร่วมกันของภูมิภาค

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ