ข่าว

"กระเป๋าใยบวบ" ผลงานนักศึกษา คว้ารางวัลภายใต้โครงการ Green Youth

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นศ.สวนสุนันทา ผุดไอเดียผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “กระเป๋าใยบวบ” คว้ารางวัลภายใต้โครงการ Green Youth ประจำปี 2563 จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ในสถานการณ์ปัจจุบันโรคโควิด-19 ระบาด ยังพบเห็นคนไทยใช้บรรจุภัณฑ์ ที่ใช้เพียงครั้งเดียวทิ้ง แต่สำหรับ “กระเป๋าใยบวบ” ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ สามารถใช้ได้หลายครั้งและเก็บไว้ใช้ได้นาน ผลงานของนักศึกษา

 

กว่าจะเป็น “กระเป๋าใยบวบ”  นักศึกษาผู้คิดค้นผลิตภัณฑ์ได้พบปัญหาการใช้ บรรจุภัณฑ์ประเภทพลาสติก โฟม ซึ่งมีต้นทุนในการผลิตต่ำ ราคาถูก น้ำหนักเบา มีความคงทนต่อสารเคมี มีการนำมาใช้งานในเวลาอันสั้น หากแต่มีระยะเวลาในการย่อยสลายที่ยาวนาน เป็นปัญหาหลักที่ทำให้มีปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มมากขึ้น

 

ประกอบกับการจัดการขยะที่ไม่ถูกวิธี ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ทีมนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา 

 

ประกอบด้วย นางสาวสโรชา ชุ่มสุข นางสาวสุมณฑาทิพย์ สังข์ทอง และนายดนุพร คงศร คิดค้นผลิตภัณฑ์ “กระเป๋าใยบวบ” ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัศนาวลัย อุฑารสกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ

นางสาวสโรชา ชุ่มสุข ตัวแทนทีมนักศึกษา เล่าว่า ก่อนจะมาเป็น "กระเป๋าใยบวบ" ได้ลองใช้กาบหมากแห้งมาทำแล้วไม่สำเร็จ จึงเปลี่ยนวัสดุไปเรื่อย จนได้ไปพบการทำรองเท้าจากใยบวบ

 

"จึงเกิดแนวคิดได้ว่า ใยบวบน่าจะมีความนิ่ม ขึ้นรูปง่ายกว่ากาบหมากแห้ง ทั้งยังแปลกใหม่ด้วย และใยบวบเราก็ยังพบเห็นได้ทั่วไปสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง แต่ยังพบเห็นได้น้อยที่จะนำมาทำเป็นกระเป๋า ด้วยรูปทรงและความแข็ง ทีมจึงตัดสินใจใช้ใยบวบ"นางสาวสโรชา กล่าว

ทีมนักศีกษา มรภ.สวนสุนันทา ผู้คิดค้นผลิตภัณฑ์ "กระเป๋าใยบวบ"

 

โดยเริ่มจากการศึกษาวิธีทำให้ใยบวบเกิดความนิ่ม โดยการเอาไปแช่น้ำและใส่ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ เพื่อฆ่าเชื้อและให้สีของบวบมีความขาวขึ้น

 

จากนั้นนำไปตากให้แห้งหมาด ๆ เพื่อที่จะนำมาตัดแนวยาว นำเอาแกนกลางที่แข็งออกค่ะ จากนั้น นำมารีดให้แบน และเย็บขึ้นรูปเป็นกระเป๋าตามแบบที่ต้องการ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัศนาวลัย อุฑารสกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สำหรับผลงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม New Normal For Green Society ของสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

 

ที่จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งคว้ารางวัลเหรียญเงิน (ระดับดีมาก) ในการเข้าร่วมกิจกรรมเป็นพลังเครือข่ายเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัย (Green Youth) ประจำปี 2563 เหรียญเงิน เข้าร่วมกิจกรรมร่วมพิทักษ์สิ่งแวดล้อม Green Youth ประจำปี 2563 จัดโดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)

 

ผศ.ดร.ทัศนาวลัย กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏ สวนสุนันทาได้รับผลกระทบในการจัดการเรียนการสอน จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนของนักศึกษามาในรูปแบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจึงจัดทำโครงการ New Normal For Green Society ในรูปแบบออนไลน์ขึ้นแทน เพื่อลดการเกิดปัญหาข้างต้น
 

โดยมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ลดการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในรูปแบบสื่อออนไลน์ รวมถึงเป็นการสร้างความตระหนักในการปรับพฤติกรรมเพื่อลดปัญหาขยะ และมีการใช้ชีวิตแบบชีวิตวิถีใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ง่าย”

 

“การจัดกิจกรรมประกวดสิ่งประดิษฐ์ภาชนะรักษ์โลก และกิจกรรมแข่งขัน 15 Day Challenge Ver. New Normal Vol.1 ซึ่งส่งเสริมในการปลูกจิตสำนึกและตระหนักถึงการบริโภคเพื่อให้เกิดความยั่งยืน หลักการ 3Rs ซึ่งประกอบด้วย Reduce (ลดการใช้/เท่าที่จำเป็น) Reuse (การใช้ซ้ำ) และ Recycle (การนำขยะมาแปรรูป ใช้ใหม่)

 

"มีแนวคิดในการต่อยอดนำไปสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว พร้อมกระจายความร่วมมือไปสู่ชุมชนบริเวณรอบข้างให้มีส่วนร่วมในโครงการนี้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการปรับตัวการใช้ชีวิตแบบชีวิตวิถีใหม่หรือ New Normal ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการประกวดบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นต้นแบบในการลดการใช้พลาสติก โดยมีนักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเป็นแกนนำในการดำเนินโครงการนี้” ผศ.ดร.ทัศนาวลัย กล่าว

"กระเป๋าใยบวบ" ผลงานนักศึกษา คว้ารางวัลภายใต้โครงการ Green Youth

ผศ.ดร.ทัศนาวลัย กล่าวอีกว่า มรภ.สวนสุนันทาเห็นความสำคัญในการสร้างความเข้าใจเพื่อถ่ายทอด ความรู้และสร้างจิตสำนึก โดยมีเป้าหมายโครงการเริ่มที่บุคลากรและนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย และขยายผลสู่ชุมชนโดยรอบ ในการเข้าร่วมโครงการ New Normal For Green Society เพื่อยกระดับสถานศึกษาให้เข้าสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว

 

"และสร้างชุมชนมีพฤติกรรมการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านการลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายยาก ให้เกิดการใช้ทรัพยากร อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความตระหนักในการเป็นผู้บริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปรับตัวในการใช้ชีวิตแบบชีวิตวิถีใหม่อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวและสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป” ผศ.ดร.ทัศนาวลัย กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ