
"ชาไทย" ยอดส่งออกเติบโตกว่า 500 ลบ. สนค.แนะใช้ FTA เบิกทาง เจาะจีน อาเซียน
ข่าวดี! ผู้ประกอบการ "ชาไทย" เตรียมเร่งสร้างความแข็งแกร่งให้แบรนด์ รองรับตลาดชาไทยส่งออก โตกว่า500ล้านบาท สนค. แนะ เร่งผลักดันมาตรฐานแบรนด์ไทย และใช้ FTA เป็นใบเบิกทาง เจาะจีน อาเซียน
"ชาไทย" สินค้าดาวรุ่ง ยอดส่งออก 7 เดือนมีมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท โตกว่า 119% สนค. แนะ เร่งผลักดันมาตรฐานแบรนด์ไทย และใช้ FTA เป็นใบเบิกทาง เจาะจีน อาเซียน
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผย “ชาไทย” สินค้าดาวรุ่งส่งออก ยอด 7 เดือน โตกระฉูด มูลค่า 508.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 119.36% แนะเร่งผลักดันมาตรฐาน เพิ่มการแปรรูป ช่วยเพิ่มช่องทางตลาด และปั้นแบรนด์ไทยให้แข็งแกร่ง ชี้ควรใช้ FTA เป็นใบเบิกทาง เจาะจีน อาเซียน
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์
การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์สินค้า
“ชาไทย” เพื่อประเมินโอกาสในการขยายตลาด ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
โดยพบว่า ชาไทยเป็นสินค้าดาวรุ่งที่มีโอกาสในการขยายตัวได้อีกมาก ซึ่งเห็นได้จากยอดการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564
(ม.ค. - ก.ค.) มีปริมาณสูงถึง 2,192.44 ตัน เพิ่มขึ้น 99.88% และมีมูลค่า 508.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 119.36% (สินค้าประเภทชาเขียวและชาดำบรรจุหีบห่อ)
“จากแนวโน้มการส่งออกดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ชาไทยยังมีโอกาสในการส่งออกได้เพิ่มขึ้น
โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จะต้องเข้ามาช่วยเหลือในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยผลักดันให้มีมาตรฐานรับรอง ทั้งมาตรฐานในประเทศและมาตรฐานต่างประเทศ เช่น การผลิตทางการเกษตรอย่างถูกต้องและเหมาะสม (GAP) มาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ (GMP) สิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์ (GI) รวมถึงการรับรองสินค้าอินทรีย์ เป็นต้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อ และช่วยเพิ่มโอกาสในการขายให้กับชาไทย”
ส่วนการส่งออก ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสในการส่งออกชา
และผลิตภัณฑ์ชาไทย เพราะชาไทยเป็นที่นิยมและยอมรับ
ในหมู่ผู้บริโภค โดยมีตลาดสำคัญ เช่น ไต้หวัน จีน และอาเซียน ซึ่งในส่วนของจีนและอาเซียน สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ปัจจุบันมีการลดภาษีนำเข้าให้กับชาไทยแล้ว ทำให้สินค้าไทยมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง
ชาสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงต้นฤดูฝน และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งปี โดยในช่วงเดือน พ.ย. - ธ.ค. เป็นช่วงที่ผลผลิตออกมากที่สุด
ไทยมีพื้นที่ปลูกชาในปี 2563 จำนวน 149,656.95 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2562 คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.90 โดยพันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุด ได้แก่ พันธุ์ชาอัสสัม และพันธุ์ชาจีน คิดเป็นร้อยละ 87 และ 13 ตามลำดับ