ข่าว

วิษณุ แจงปมสัมปทาน "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" สะดุด ที่แท้ถูก คมนาคม ทักท้วง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รองนายกฯวิษณุ เครืองาม แจงปมสัมปทาน "รถไฟฟ้าสายสีเขียว"สะดุด เหตุมหาดไทยถอนจาก ครม. หลังพบข้อทักท้วงกระทรวงคมนาคม 

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ครม.ไม่พิจารณาต่ออายุสัมปทานโครงการ "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ว่า มีรายละเอียดไม่เรียบร้อยเล็กน้อยแต่ไม่ยุ่งยากอะไรเป็นเรื่องที่กระทรวงคมนาคม ทักท้วงมาแล้วกระทรวงมหาดไทยเพิ่งเห็นเมื่อคืนวันที่ 18 ต.ค.ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจำเป็นต้องตอบตรงนี้ก่อน แต่ส่วนตัวยังไม่เห็นข้อทักท้วง
 

ส่วนวาระนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม.แล้วดึงออกมาใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ใช่การดึงออกเพียงแต่เมื่อถึงวาระดังกล่าว พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา  รมว.มหาดไทย ได้ขอถอนออกไปเพื่อทำความเห็นเข้ามาใหม่ ส่วนจะเข้า ครม.อีกครั้งในครั้งหน้าหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย

 

ก่อนหน้านี้มี 4 ประเด็นที่กระทรวงการคมนาคมทักท้วง กทม. ในการต่อสัญญาสัมปทาน 30 ปี


1.  การดำเนินการไม่ครบถ้วนตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ
 กระทรวงคมนาคม เสนอว่าในขั้นตอนเจรจา ควรดำเนินการให้ครบถ้วนตามหลักการ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ก่อน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐ และความเป็นธรรมกับประชาชนเป็นสำคัญ

 

 2. อัตราค่าโดยสาร 65 บาท ยังสูงเกินไป  

กระทรวงการคมนาคมเห็นว่า อัตราค่าโดยสาร 65 บาท ยังสูงเกินไป เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (กระทรวงคมนาคม เป็นเจ้าของโครงการ) ซึ่งถ้าเดินทางไป-กลับ ประชาชนต้องเสียค่าโดยสาร 130 บาท คิดเป็น 35 % ของค่าแรงขั้นต่ำ

 

โดยได้เทียบเคียงว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มีผู้โดยสารประมาณ 3 แสนคนต่อวัน อัตราค่าโดยสารไม่เกิน 42 บาท ยังสามารถดำเนินกิจการได้

 

แล้วทำไม"รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ที่เปิดให้บริการมาแล้วกว่า 21 ปี ผ่านจุดคุ้มทุนมาแล้ว มีผู้โดยสาร 8 แสน - 1 ล้านคนต่อวัน (ก่อนวิกฤติการโควิด-19) จะเก็บค่าโดยสารต่ำกว่า 65 บาท ไม่ได้  

 


 

3. การขยายสัมปทาน อาจทำให้รัฐไม่ได้รับผลประโยชน์สูงสุด  

ตามสัญญาสัมปทานเดิมนั้น หลังจากครบกำหนดในปี 2572 ทรัพย์สินรวมระยะโครงข่ายเส้นทางทั้งหมด 68.25 กม. จะตกเป็นของรัฐ และหากให้เอกชนเข้ามาลงทุนเพิ่มเติม คำนวณแล้วก็เป็นสัดส่วนน้อยกว่าการลงทุนโครงการใหม่

ดังนั้น การขยายสัมปทานกับไม่ขยายสัมปทาน ทางคณะกรรมการต้องมีพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า แนวทางใดที่รัฐจะได้ผลประโยชน์สูงสุดมากกว่ากัน

 

4. ควรรอผลการตัดสินจาก ป.ป.ช. ก่อน เพื่อไม่เกิดผลกระทบย้อนหลัง
จากการที่ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริง กรณี กทม.ได้ทำสัญญาจ้างเอกชนเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ไปจนถึงปี 2585 กระทรวงคมนาคมเห็นว่า ควรรอผลการไต่สวนก่อน เพราะหากมีการต่อสัมปทาน โดยที่กระบวนการไต่สวนยังไม่สิ้นสุด อาจเกิดผลกระทบย้อนหลังได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ