ข่าว

"รมว.ดีอีเอส" เผย นายกฯกำชับตำรวจเร่งจับกุมมิจฉาชีพแฮกบัญชีธนาคาร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"รมว.ดีอีเอส" เตือนอย่านำบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตของธนาคาร ที่ไม่มีระบบความปลอดภัยน่าเชื่อถือ ไปทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ เตรียม ชง กม.คุมธุรกิจแฟลตฟอร์มดิจิทัล เข้าครม. ต้องยืนยันตัวตน และมีตัวแทนในประเทศ เผย นายกฯกำชับตำรวจเร่งจับกุมมิจฉาชีพแฮกบัญชีธนาคาร

 

นายชัยวัฒน์ ธนาคมานุสรณ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือ "รมว.ดีอีเอส" กล่าวถึงกรณีผู้เสียหายกว่าหมื่นคนถูกโอนเงินออกจากบัญชีตัวเองโดยไม่ได้ทำธุรกรรมว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้กำชับไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้เร่งติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดแม้จะเป็น platform ในต่างประเทศ แต่เชื่อว่าจะต้องมีคนไทยเข้ามาเกี่ยวข้องและจะสามารถเอาผิดกับผู้ที่กระทำความผิดได้

 

"รมว.ดีเอส" ยังระบุว่า ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยถึงมาตรการป้องกันและตรวจสอบการโอนเงินในระบบออนไลน์ เนื่องจากมิจฉาชีพใช้ช่องว่างของการโอนเงินจำนวนน้อยและไม่มีการแจ้งเตือนมากระทำความผิด จึงต้องเร่งปรับปรุงเพื่อปิดช่องว่างดังกล่าว

 

ขณะเดียวกัน ฝากถึงประชาชนให้ตรวจสอบระบบความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงินของธนาคารผู้ให้บริการว่ามีการแจ้งเตือนหรือมีการส่งรหัส OTP ก่อนโอนเงินหรือไม่ หากไม่พบว่ามีมาตรการดังกล่าว หรือ ระบบมีความไม่น่าเชื่อถือ ไม่มั่นใจ ก็อย่านำบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตของธนาคารดังกล่าวไปใช้ เพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น 

 

ส่วนร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้น "รมว.ดีอีเอส" กล่าวว่า ยกร่างเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างเตรียมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการจดแจ้งของผู้ประกอบการอย่างถูกต้อง ตรวจสอบผู้ซื้อผู้ขาย มีระบบยืนยันตัวตน 2 ครั้ง ส่วน platform ในต่างประเทศต้องมีตัวแทนคนไทยจดแจ้ง เพื่อรับผิดชอบกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย แถลงกรณีประชาชนผู้เสียหายกว่าหมื่นคนถูกโอนเงินออกจากบัญชีตัวเองโดยไม่ได้ทำธุรกรรมรายงานในเบื้องต้น ผลการตรวจสอบที่ออกมาพบว่า 80-90% มาจากการดูดเงินผ่านบัตรเดบิต โดยพฤติการณ์ของคนร้ายคือการสุ่มหน้าบัตร และวันหมดอายุเพื่อโจรกรรมเงินและส่วนใหญ่จะเป็นการทำร้านค้าในต่างประเทศผลตรวจสอบเบื้องต้นจากธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ใกล้เคียงกับข้อสันนิษฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

สำหรับพฤติการณ์การก่อเหตุสันนิษฐานว่าอาจเกิดจาก 3 รูปแบบ เป็นการผูกบัญชีบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัญชีธนาคารเข้ากับแอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น แอปพลิเคชันออนไลน์และข้อมูลเกิดหลุดไปถึงแก๊งมิจฉาชีพ การส่ง SMS หลอกลวง ที่จะส่งลิงก์มาตาม SMS เข้ามือถือผู้เสียหายและให้กรอกข้อมูลต่าง ๆ เช่น ปล่อยเงินกู้ ไปรษณีย์ไทย  การใช้บัตรเครดิต และบัตรเดบิตในชีวิตประจำวัน เช่น การให้บัตรพนักงานไปชำระค่าสินค้าและบริการในห้าง หรือการเติมน้ำมัน อาจถูกพนักงานเก็บข้อมูลเลขหน้าบัตร 16 หลัก และเลข CVC หลังบัตร 3 ตัว ซึ่งคนร้ายอาจมีการรวบรวมข้อมูลและขายต่อในตลาดมืด
 
 

logoline