ข่าว

โปรดเกล้าฯพระราชทานยศ "พลเรือตรี" ทองย้อย บรมครูกาพย์เห่เรือ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศสำนักนายกฯ โปรดเกล้าฯพระราชทานยศ ทหารเป็นกรณีพิเศษ ให้แก่ "นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย"  นายทหารพ้นราชการ บรมครูผู้ประพันธ์กาพย์เห่เรือ  ดำรงยศ "พลเรือตรี" 

"ราชกิจจาฯ"  เผยแพร่ประกาศสำนักนายกฯ โปรดเกล้าฯพระราชทานยศ ทหารเป็นกรณีพิเศษ ให้แก่ "นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย"  นายทหารพ้นราชการ บรมครูผู้ประพันธ์กาพย์เห่เรือ  ดำรงยศ"พลเรือตรี" 

 

เมื่อวันที่ 17 ต.ค.64   "ราชกิจจานุเบกษา" เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหารเป็นกรณีพิเศษ

 

โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานยศ พลเรือตรี เป็นกรณีพิเศษ ให้แก่ "นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย" นายทหารพ้นราชการ สังกัดกองทัพเรือ

 

เนื่องจาก เป็นผู้ประกอบคุณงามความดี มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน องค์กร ทำคุณประโยชน์ ให้แก่กองทัพเรือและประเทศชาติโดยส่วนรวม

 

ตั้งแต่วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๔

 

ประกาศ ณ วันที่ ๑๗  ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ 

 

 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

สำหรับประวัติชีวิตส่วนตัว "พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย"  ถือว่าเป็นบรมครูด้านวรรณศิลป์ในการแต่งกาพย์เห่เรือในพระราชพิธีสำคัญของประเทศมาอย่างยาวนาน  เป็นที่รู้จักและได้รับการเชิดชูผลงานด้านวรรณศิลป์

โปรดเกล้าฯพระราชทานยศ "พลเรือตรี" ทองย้อย บรมครูกาพย์เห่เรือ

 

พลเรือตรีทองย้อย  เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๘ ที่จังหวัดราชบุรี  เป็นบุตรนายอิน กับ นางเหมิด แสงสินชัย 

 

คู่สมรสชื่อ สุดใจ นามสกุลเดิม อินทศิริ เป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี มีบุตรธิดา ๓ คน 

 

ปัจจุบันเกษียณอายุราชการจากกองทัพเรือ ตำแหน่งสุดท้ายคือ ผู้อำนวยการกอง กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ แต่ยังคงทำงานด้านวรรณศิลป์ แต่งบทกาพย์กลอน และหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนา และเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับด้านวรรณศิลป์ กับองค์กร สถานศึกษาต่าง ๆ ทั้งราชการและเอกชน

ประวัติการสร้างสรรค์ผลงานในด้านกวีนิพนธ์  พลเรือตรี ทองย้อย เป็นผู้ที่มีความสามารถอย่างสูงในการแต่งบทกวี โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ได้เริ่มแต่งมาตั้งแต่ครั้งยังบวชเรียน (ดังจะเห็นได้จากฉายาที่ได้รับตอนบวช คือ “วรกวินฺโท” ซึ่งหมายถึง “จอมกวีผู้ประเสริฐ”) โดยในยุคแรก ได้รับแรงบันดาลใจจากสภาพชีวิตชนบทที่ถือกำเนิด

โปรดเกล้าฯพระราชทานยศ "พลเรือตรี" ทองย้อย บรมครูกาพย์เห่เรือ

 

ทั้งความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ ผู้คน และวัฒนธรรม  ยิ่งเมื่อได้บรรพชาอุปสมบทและศึกษาปริยัติธรรมอย่างสนใจ ก็ยิ่งทำให้รู้ลึกถึงแก่นแกนของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย ซึ่งเกือบทั้งหมดมีพระพุทธศาสนาเป็นบ่อเกิด จึงปรารถนาจะถ่ายทอดและจารึกสิ่งที่ได้ศึกษาและได้เห็นมา  หลังจากลาสิกขา ก็ยังเขียนงานกวีนิพนธ์อย่างต่อเนื่อง  เมื่อเข้ารับราชการในกองทัพเรือ ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แต่งบทกวีต่างๆ ในโอกาสสำคัญของกองทัพเป็นประจำ

 

ที่สำคัญคือคำร้อยกรองกาพย์เห่เรือ ซึ่งใช้ในพระราชพิธีสำคัญๆ ในการเสด็จทางชลมารค การได้รับมอบหมายให้รับหน้าที่เป็นผู้แต่งบทกาพย์เห่เรือเหล่านี้

 

พลเรือตรี ทองย้อย จึงถือเป็นเกียรติยศอันสูงยิ่งที่ได้รับใช้ต่อองค์พระประมุขของประเทศ ที่ พลเรือตรีทองย้อย จงรักภักดีเป็นที่ยิ่ง และได้รับใช้หน่วยงานต้นสังกัด รวมทั้งยังเป็นการสร้างมรดกให้แก่แผ่นดินสืบไป

 

ในด้านวรรณกรรมเกี่ยวกับวิชาการศาสนา จากผลของการศึกษาปริยัติธรรมจนจบเปรียญธรรม ๙ ประโยค  นอกจากทำให้มีความรู้ในทางธรรมเช่นเดียวกับมหาเปรียญทั่วไปแล้ว ยังทำให้เกิดปณิธานแน่วแน่ที่จะปกป้องเชิดชูพระพุทธศาสนา ซึ่งได้แก่หลักธรรมคำสอนให้บริสุทธิ์มั่นคงด้วย การเผยแผ่วิชาการของพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง และบทบาทในเรื่องนี้ จำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องอาศัยความรู้จริง ความวิริยะอุตสาหะในการค้นคว้า และความสามารถทางด้านวรรณกรรม ที่จะถ่ายทอดหลักวิชาซึ่งคนทั่วไปถือว่าเข้าใจยากและน่าเบื่อหน่ายให้คนเข้าใจได้

 

จึงมุ่งมั่นศึกษาและค้นคว้าวิชาการในพระพุทธศาสนาจนแตกฉาน ฝึกฝนการเขียนงานวิชาการจนสร้างผลงานออกมามิได้ขาด ซึ่งมีทั้งประเภทให้ความรู้ทางพระพุทธศาสนาโดยทั่วไป และผลงานที่มุ่งชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อพระรัตนตรัยที่มีผู้อื่นเขียนขึ้น อันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่พระพุทธศาสนาได้

 

อ้างอิงข้อมูลจากกองทัพเรือ.....

https://www.navy.mi.th/index.php/main/detail/content_id/20074

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ