
ไท่ซาน-เหม่ยหลิน : กรณีศึกษาก่อนส่ง "หลินปิง" กลับบ้าน
ทัศนีย์ สาลีโภชน์
เห็นข่าวลูกแพนด้าที่เกิดในสหรัฐถูกส่งตัวกลับจีนเลยทำให้นึกถึงอาหมวย "หลินปิง" ขวัญใจชาวไทยไม่ได้ วันนี้ "เปิดโลกวันอาทิตย์" เลยหยิบเอาเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังเพื่อเป็นกรณีศึกษาว่าเมื่อถึงคราวที่ไทยเราต้องส่งหลินปิงกลับบ้านเกิดแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
เจ้าเหม่ยหลาน วัย 3 ขวบ และเจ้าไท่ซาน วัย 4 ขวบครึ่งที่ถูกส่งตัวกลับศูนย์อนุรักษ์พันธุ์แพนด้าในเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ด้วยเครื่องบินขนสินค้าเที่ยวบินพิเศษ "แพนด้า เอ็กซ์เพรส" ไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาเป็นลูกแพนด้าที่เกิดในสหรัฐ ภาพข่าวการส่งกลับแพนด้ายักษ์คู่นี้ที่ออกมาทำให้เราได้รู้ว่าชาวอเมริกันก็เห่อแพนด้าไม่แพ้คนไทยเช่นกัน
ทางการสหรัฐถึงกับส่งตำรวจรัฐบาลกลางมาอารักขาเจ้าไท่ซานไปสนามบิน พนักงานเฟดเอ็กซ์ต่างสวมเสื้อทีมแพนด้าเหมือนกัน แม้แต่เครื่องบินไอพ่นลำที่เป็นพาหนะส่งเจ้าเหม่ยหลานกับเจ้าไท่ซานกลับบ้านยังมีรูปแพนด้าติดอยู่บนตัวเครื่องเลย
นักข่าวมารุมทำข่าวกันมากมาย โทรทัศน์หลายช่องมีการถ่ายทอดสดกันตลอดกระบวนการ ขณะที่เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ที่เป็นพี่เลี้ยงให้เจ้าหมีขนปุยนี้มาตลอดถึงกับเช็ดน้ำตาด้วยความอาลัย
เมื่อเครื่องบินโออิ้ง 777 ติดเครื่องดังกระหึ่ม น้ำก็ไหลออกมาจากตาของ มารา สตรอค แฟนแพนด้าซึ่งเป็นแขกที่ได้รับเชิญมาในงานอำลานี้ เธอบอกในขณะที่เครื่องบินเคลื่อนตัวออกไปว่ารักเจ้าไท่ซานมาก ส่วนหนูน้อยคาลีห์ เดวิส วัย 10 ขวบที่กอดตุ๊กตาแพนดาเอาไว้แน่นบอกว่า เศร้าใจที่เห็นไท่ซานจากไป แต่ก็ดีใจที่มันจะได้ไปอยู่กับพวกพ้อง
"สิ่งที่หนูกลัวที่สุดก็คือเจ้าไท่ซานจะกินอาหารมากไป แล้วมันก็จะปวดท้อง"
คนอเมริกันนับล้าน ๆ คนตกหลุมรักแพนด้าที่กลายเป็นดาวเด่นของสวนสัตว์ พวกเขาได้ดูมันเติบโตผ่านกล้องถ่ายทอดสดออนไลน์เหมือนเจ้าหลินปิงที่บ้านเราไม่มีผิดเพี้ยน
ทว่า แพนด้ากับชาวอเมริกันนั้นมีความผูกพันธ์กันมายาวนานกว่าไทยมากนัก โดยแพนด้าคู่แรกคือเจ้าหลิงหลิง และเจ้าซิงซิง นั้นเดินทางมาถึงสวนสัตว์แห่งชาติในกรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อปี 2515 เป็นของขวัญที่จีนมอบให้ชาวอเมริกันหลังประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันเยือนแดนมังกรครั้งประวัติศาสตร์
แพนด้าคู่นี้อยู่ที่สวนสัตว์ในอเมริกากว่า 20 ปี และออกลูกมา 5 ตัว แต่ไม่มีตัวไหนรอดเลย ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เจ้าไท่ซาน ซึ่งเป็นลูกแพนด้าตัวแรกที่เกิดและเติบโตในเมืองหลวงของอเมริกาเป็นที่รักและทนุถนอมยิ่งนัก
ช่วงนี้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐกำลังระหองระแหงทั้งจากกรณีสหรัฐขายอาวุธให้ไต้หวัน โอบามาจะพบกับทะไล ลามะ เรื่อยไปจนถึงเรื่องกูเกิลขู่ว่าจะถอนตัวออกจากจีน แต่แพนด้าก็ยังเป็นทูตที่ทำงานได้ผลเสมอมา เพราะการส่งตัวเจ้าไท่ซานและเจ้าเหม่ยหลานกลับทำให้เกิดความกลมเกลียวกันขึ้นแม้จะเพียงชั่วขณะก็ตาม
พีเจ โครว์ลีย์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ แถลงว่า "เจ้าไท่ซานเป็นสิ่งที่จับต้องได้ มีขนปุยซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความร่วมมือระหว่างสหรัฐและจีน ขณะที่นายเสี่ย เฟิง อัครราชทูตที่ปรึกษาประจำสถานทูตจีนในสหรัฐ กล่าวว่า เจ้าไท่ซานเติบโตมาด้วยความรัก และเอาใจใส่ของชาวอเมริกัน ตอนนี้ เจ้าไท่ซานเติบโตกลายเป็นหนุ่มหล่อ และถึงเวลาที่มันจะกลับบ้านแล้ว
จีนให้อเมริกายืมพ่อแม่ของเจ้าไท่ซานกับเจ้าเหม่ยหลานมาเพื่อการอนุรักษ์ ตอนนี้ลูก ๆ ของพวกมันจะถูกส่งตัวไปเข้าโครงการขยายพันธุ์ในดินแดนบ้านเกิดต่อไป เพราะแพนด้ายักษ์เป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ปัจจุบันมีหลงเหลืออยู่ในธรรมชาติประมาณ 1,600 ตัวเท่านั้น และอีก 290 ตัวอยู่ในโครงการเพาะพันธุ์ทั่วโลก
แฟน ๆ แพนด้าต่างแห่กันไปที่สวนสัตว์แอตแลนต้าที่เจ้าเหม่ยหลานอยู่ และสวนสัตว์แห่งชาติในวอชิงตันที่เจ้าไท่ซานอยู่เพื่อดูหน้าแพนด้าทั้งคู่เป็นครั้งสุดท้าย พ่อแม่บางคนถึงกับยอมให้ลูก ๆ ขาดเรียนมาส่งเจ้าไท่ซานเลยทีเดียว
"หนูเศร้าที่เห็นมันจากไป แต่เป็นเรื่องดีที่มันจะได้กลับบ้านไปช่วยผลิตแพนด้าออกมามากขึ้น" หนูน้อยซาราห์ บอยล์ วัย 9 ขวบกล่าวอย่างเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ในการที่แพนด้าน้อยต้องกลับคืนบ้านเกิด