ข่าว

สร้าง "อาชีพเสริม" ในพื้นที่แคบ เลี้ยง "ปลาดุก" ในถังน้ำ(มีคลิป)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชุดถังเกษตรแบบผสมผสาน เป็น "นวัตกรรม" เพื่อการใช้น้ำและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะกับทุกพื้นที่ ไม่ต้องขุดบ่อหรือก่อบ่อซีเมนต์ จัดการดูแลง่าย

หากคนเราต้องการมีอาชีพ มีรายได้ บางครั้งการตัดอุปสรรค และตัดข้อกำจัดในชีวิตออกไปบ้าง ทำให้เราเห็นโอกาสอีกมากมาย วันนี้มีหนึ่งตัวอย่าง แม้จะมีพื้นที่แคบก็สามารถสร้างรายได้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้

 

ที่กลุ่มทอผ้าไทลื้อบ้านหาดบ้าย เลขที่192 หมู่ที่ 1 บ้านหาดบ้าย ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดอบรมโครงการส่งเสริมอาชีพโดยชุดถังเกษตรแบบผสมผสาน ภายใต้ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2564 สนับสนุนโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 

สร้าง "อาชีพเสริม" ในพื้นที่แคบ เลี้ยง "ปลาดุก" ในถังน้ำ(มีคลิป)

นายไกรทอง เหง้าน้อย ผู้ประสานงานโครงการส่งเสริมอาชีพโดยชุดถังเกษตรแบบผสมผสาน บอกว่า กลุ่มเป้าหมายเป็น ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงในจังหวัดเชียงราย ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรแม่น้ำโขง หลายคนต้องเปลี่ยนอาชีพ เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ทั้งในครัวเรือนและหมู่บ้าน 

 

ดังนั้นควรจะเร่งแก้ปัญหาโดยการเสริมสร้างอาชีพที่เพิ่มความมั่นคงทางอาหารและรายได้ แก่ชาวบ้านที่สามารถเห็นผลได้เร็ว และใช้ทรัพยากรหรือต้นทุนน้อย ชาวบ้านสามารถต่อยอดหรือพัฒนาต่อได้ โดยสนับสนุนให้เลี้ยงปลาและปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์ โดยใช้ชุดถังเกษตรแบบผสมผสานจึงเป็นทางออกที่สำคัญ 

สร้าง "อาชีพเสริม" ในพื้นที่แคบ เลี้ยง "ปลาดุก" ในถังน้ำ(มีคลิป)

ชุดถังเกษตรแบบผสมผสาน หรือทีเรียกว่า PAS เป็นชุดถังดำขนาด 200 ลิตรจำนวน 3 ถัง ที่ต่อท่อเชื่อมกันโดยน้ำ จะหมุนเวียนผ่านท่อและถังกรอง โดยปั๊มน้ำที่ทำงานโดยใช้ไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ถังจะสามารถเลี้ยงปลาดุก ได้ถังละประมาณ 80 ตัว โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ก็สามารถจับปลาเพื่อกินหรือขายได้ นอกจากนี้เรายังสามารถปลูก ผักแบบไฮโดรโปนิกส์ ในถ้วยพลาสติกที่ฝาถังได้ โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ย เพราะขี้ปลาในถังจะเป็นปุ๋ยอย่างดี

 

PAS เป็นนวัตกรรม ในการเกษตรที่ใช้กันมากในประเทศอินโดนีเซีย แต่ในประเทศไทยนำไปใช้น้อยมาก เนื่องจากขาดคนพัฒนาให้เหมาะสมกับพื้นที่และเผยแพร่ ปัจจุบันสมาคมสถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขงได้พัฒนา และส่งเสริมการใช้แล้วใน 6 หมู่บ้านตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ผ่านซึ่งได้ผลสำเร็จเป็นอย่างดี ที่สำคัญยังได้พัฒนาปรับปรุงระบบถัง PAS ให้จัดการง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกับการทดลองให้เหมาะ กับชนิดของปลาที่เลี้ยงได้ดี 

สร้าง "อาชีพเสริม" ในพื้นที่แคบ เลี้ยง "ปลาดุก" ในถังน้ำ(มีคลิป)

 

 

นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ที่ปรึกษาสมาคมสถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง บอกด้วยว่า ถัง PAS มีประโยชน์หลายด้าน คือ เป็นนวัตกรรมเพื่อการใช้น้ำและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะกับทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ขาดแคลนทรัพยากร ใช้พื้นที่น้อย ไม่ต้องขุดบ่อหรือก่อบ่อซีเมนต์ จัดการดูแลง่าย ไม่ต้องใช้เวลามาก น้ำจะหมุนเวียนเองโดยพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านระบบกรอง ทนทานเป็นสิบปี

 

การติดตั้งหรือเคลื่อนย้ายได้ไม่เหมือนบ่อซีเมนต์ สามารถเลี้ยงปลาและปลูกผักได้ในตัว สามารถเป็นที่เรียนรู้แก่คนอื่นๆในชุมชนหรือชุมชนใกล้เคียงได้ ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดได้ โดยเฉพาะชุมชนประมงที่มีความรู้เรื่องปลาอยู่แล้ว สามารถพัฒนาต่อยอด หรือขยายจำนวนถังให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตได้ 

สร้าง "อาชีพเสริม" ในพื้นที่แคบ เลี้ยง "ปลาดุก" ในถังน้ำ(มีคลิป)

ภาพ/ข่าว ณัฐวัตร ลาพิงค์ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.เชียงราย

logoline