ข่าว

"ในหลวงรัชกาลที่9 "นักกีฬาเรือใบทีมชาติไทย กีฬาแหลมทอง 2510

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระอัจฉริยภาพของ"ในหลวงรัชกาลที่9"ที่มีต่อการทรงกีฬา ในชนิดต่างๆ ยังรวมไปถึงการทำหน้าที่นักกีฬาเรือใบให้กับทีมชาติไทย ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ปี 2510 รวมทั้งความเชี่ยวชาญในการออกแบบเรือใบ

"การแล่นใบสอนให้คนคิดเองทำเอง เพราะเมื่อเราลงไปเล่นเรือใบแล้วเรือไม่วิ่ง จะไม่มีใครมาคอยสอน เราต้องคิดเอง ทำเอง ว่าลมมาทางไหน ลมแรงขนาดนี้ เราสู้ไหวไหม ถ้าไหวเราก็สู้ แต่ถ้าไม่ไหวแล้วเรายังสู้ เรือก็จะคว่ำ ถ้าลมเบาเราจะต้องทำอย่างไรเรือจึงจะวิ่ง แล้วถ้าไม่มีลมเราจะทำอย่างไร เราก็ควรจะนั่งรอสักครู่ให้ลมมา ถ้าเราเล่นเรือเป็น ดูทิศทางลมเป็น ถ้าเราเป็นตัวนี้ เด็กไทยเป็นตัวนี้แล้วนำมาใช้ในชีวิต นำมาใช้ในกิจการงานได้ ไม่มีทางขาดทุน เพราะรู้เทคนิคการใช้ชีวิต เด็กไทยจะรู้จักและเข้าใจในการคิดเอง ทำเอง" พระราชดำรัส   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว " ในหลวงรัชกาลที่ 9"  

 

"เรือใบ"  เป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "ในหลวงรัชกาลที่ 9"  ทรงโปรดปราน  เช่นเดียวกับ   แบดมินตัน , เทนนิส และยิงปืน  "ในหลวงรัชกาลที่ 9"   ทรงต่อเรือใบพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง และทรงนำไปแข่งขันในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 9 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นซีเกมส์) 

 

พระองค์ทรงแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการแล่นเรือ ที่ต้องใช้ลมในการบังคับทิศทางจนได้รับชัยชนะในการแข่งขันเรือใบประเภท OK เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ทรงครองเหรียญทอง ร่วมกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา (พระอิสริยยศในขณะนั้น)  ได้รับการบันทึกให้เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในทวีปเอเซีย ที่ได้ครองรางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน เป็นที่ยอมรับในวงการกีฬาเรือใบระดับโลก 

 

ในระหว่างทำหน้าที่เป็นนักกีฬา  เพื่อเป็นตัวแทนของประเทศไทยลงแข่งเรือใบในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 9 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ   " ในหลวงรัชกาลที่ 9" ทรงเข้าค่ายฝึกซ้อมตามโปรแกรมการฝึกซ้อม และทรงได้รับเบี้ยเลี้ยงในฐานะนักกีฬา เช่นเดียวกับนักกีฬาคนอื่นๆ

ด้วยพระปรีชาสามารถ พระองค์ทรงชนะเลิศเหรียญทอง และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเหรียญทอง จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ท่ามกลางความปลื้มปีติของพสกนิกรชาวไทย  และเป็นที่ประจักษ์แก่ชนทั่วโลก 

 

ในหลวงรัชกาลที่ 9  ได้ทรงออกแบบและประดิษฐ์เรือใบ ออกมาหลายรุ่น พระองค์พระราชทานนามเรือใบประเภทม็อธ (Moth) ที่ทรงสร้างขึ้นว่า เรือใบมด เรือใบซูเปอร์มด และ เรือใบไมโครมด  ทั้งนี้ถึงเรือใบลำสุดท้ายที่พระองค์ทรงต่อคือ เรือโม้ค (Moke) เมื่อ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 ซึ่งเรือใบซูเปอร์มด ยังถูกใช้แข่งขันในระดับนานาชาติ ที่จัดในประเทศไทยหลายครั้ง   โดยครั้งสุดท้ายคือ  พ.ศ. 2528 ในกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 13

 


ข้อมูลที่บันทึกไว้   ในหลวงรัชกาลที่9   ทรงสนพระราชหฤทัยในกีฬาเรือใบเป็นพิเศษ เนื่องจากพระองค์ท่านโปรดปรานการช่างอยู่แต่เดิมแล้ว เรือใบของพระองค์จะทรงต่อด้วยพระองค์เอง และจะทรงทดลองแล่นในสระน้ำภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เรือใบฝีพระหัตถ์ลำแรกที่ทรงต่อด้วยพระองค์เองเป็นเรือใบพระที่นั่งเอ็นเตอร์ไพรส์ โดยพระราชทานชื่อเรือว่า "ราชปะแตน" 

 

ต่อมาทรงต่อเรือใบประเภท โอ เค ขึ้นอีก พระราชทานชื่อว่า "นวฤกษ์" ซึ่งเรือนวฤกษ์นี้เอง ทรงนำมาใช้ในการแข่งขันกีฬาเรือใบในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 นอกจากนี้พระองค์ท่านยังทรงคิดค้น ออกแบบ และสร้างเรือใบขึ้นมาด้วยพระองค์เองอีก พระราชทานชื่อว่า "เรือใบแบบมด"

 

ทรงมีรับสั่งว่า "ที่ชื่อมดนั้นเพราะมันกัดเจ็บ ๆ คัน ๆ ดี" ต่อมาทรงพัฒนาเรือแบบมดขึ้นมาใหม่โดยได้พระราชทานชื่อว่า เรือใบ "แบบซูเปอร์มด" และเรือใบในตระกูลมดนี้ลำสุดท้ายที่ทรงออกแบบคือเรือใบ "แบบไมโครมด" ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักแล่นเรือใบทั้งหลาย

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  "ในหลวงรัชกาลที่9" ทรงต่อเรือขึ้นมาอีกลำหนึ่งเป็นเรือใบประเภท โอ เค พระราชทานชื่อเรือว่า "VEGA" หรือ เวคา (ชื่อดาวฤกษ์ดวงหนึ่งที่สุกสว่างมาก) ทรงใช้เรือลำนี้เสด็จฯ ข้ามอ่าวไทยจากพระราชวังไกลกังวลหัวหิน ไปขึ้นฝั่งที่หาดเตยงามในหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินด้วยลำพังพระองค์เอง เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2509 ซึ่งในการต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหางเสือเรือเวคา เพื่อเป็นรางวัลนิรันดรในการแข่งขันเรือใบระยะทางไกลของประเทศไทย

 

 นอกจากนี้ยังทรงก่อตั้งสโมสรเรือใบส่วนพระองค์ขึ้น คือสโมสรเรือใบจิตรลดา ทั้งยังมีพระมหากรุณาธิคุณรับสโมสรเรือใบต่าง ๆ มาไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์เช่น สโมสรเรือใบราชวรุณ, สโมสรเรือใบกรมอู่ทหารเรือ, สโมสรเรือใบฐานทัพเรือสัตหีบ, สโมสรเรือใบนาวิกโยธิน และสโมสรเรือใบกองเรือยุทธการ เป็นต้น

 

ด้วยเหตุที่ทรงโปรดการต่อเรือใบประเภทต่าง ๆ  หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ได้ทรงเล่าถึงพระราชดำรัสของ"ในหลวงรัชกาลที่9" ในหนังสือ อสท. เรื่องทรงเรือใบ ฉบับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2534  ความว่า  "ปีใหม่คนอื่น ๆ เขาไปฉลองกัน เสียเงินมาก แต่เราเสีย 147 บาท เท่านั้น เป็นค่าไม้ยมหอม และค่าเบียร์ฉลองปีใหม่ แต่เรายังสนุกกว่าเขาอีก แล้วเป็นประโยชน์ด้วย"

 

จากพระราชดำรัส  จะเห็นได้ว่า"ในหลวงรัชกาลที่9" ให้ความสนพระทัยในกีฬาเรือใบ ด้วยพระราชหฤทัยอย่างแท้จริง  ด้วยพระราชกรณียกิจและพระปรีชาสามารถด้านการกีฬา คณะกรรมการโอลิมปิกสากล จึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์ และได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองดุษฎีกิตติมศักดิ์ “อิสริยาภรณ์โอลิมปิกสูงสุด (ทอง)” เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2530  ถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่9  เป็นกษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ได้รับการถวายรางวัล

 

"ในหลวงรัชกาลที่9 "นักกีฬาเรือใบทีมชาติไทย กีฬาแหลมทอง 2510

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ