
นับถอยหลังคดียึดทรัพย์"ทักษิณ"
หลักฐานที่ "คตส." ตรวจสอบพบว่า "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ยังคงถือหุ้นชินคอร์ปไว้ พบพิรุธหลายเรื่อง ขณะที่ฝ่าย "ทักษิณ" ก็หยิบยกเหตุผลนำมาหักล้างกันแบบประเด็นต่อประเด็นเช่นกัน
เส้นทางกระจายหุ้นชินคอร์ปของ "ทักษิณและคุณหญิงพจมาน" ร้อยละ 46.87 เริ่มจากการขายหุ้นให้ "พานทองแท้" บุตรชาย มากที่สุดร้อยละ 24.99 "บรรณพจน์ ดามาพงศ์" พี่ชายคุณหญิงพจมาน ร้อยละ 10.75 บริษัทแอมเพิลริช ร้อยละ 10.44 และ "ยิ่งลักษณ์" น้องสาวทักษิณ ร้อยละ 0.68 หมายความว่า "ทักษิณและคุณหญิงพจมาน" ได้ทำตามรัฐธรรมนูญแล้ว ด้วยการไม่ถือครองหุ้นที่มีสัมปทานกับหน่วยงานรัฐก่อนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปี 2544
แต่ "คตส." ไม่เชื่อ "ทักษิณ" เพราะตรวจสอบพบว่า "ทักษิณ" ยังเป็นเจ้าของหุ้นชินคอร์ปอยู่เหมือนเดิม
พิรุธที่ "คตส." ไม่เชื่อว่ามีการขายหุ้นจริง เพราะนอกจากจะขายต่ำกว่าราคาตลาดแล้ว ยังไม่มีการชำระเงินค่าหุ้นจริง มีเพียงออกตั๋วสัญญาใช้เงินค่าหุ้นที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้และไม่มีดอกเบี้ย แถมยังมีหลักฐานจากบัญชีธนาคารของ "พานทองแท้" ด้วยว่า โอนเงินปันผลเข้าบัญชี "คุณหญิงพจมาน" ทุกครั้ง รวมทั้งยังโอนเงินเกินจำนวนค่าหุ้นอีกด้วย
ขณะที่ "พานทองแท้" ชี้แจงว่า เป็นการใช้เงินคืน หลังจากยืมเงินแม่มาซื้อหุ้นจากพ่อแม่ของตัวเอง แต่สาเหตุที่จ่ายเงินเกินจำนวนค่าหุ้นเกือบ 1,100 ล้านบาท เพราะเป็นค่าซื้อหุ้นบริษัทอื่นๆ จาก "คุณหญิงพจมาน"
นอกจากนี้ "คตส." ยังได้หลักฐานเด็ดมาจาก "กาญจนาภา หงษ์เหิน" เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ที่ได้นำเอกสารเกี่ยวกับแอมเพิลริชยื่นให้ คตส.ตรวจสอบการเสียภาษี กรณีที่ "พานทองแท้" ซื้อชินคอร์ปจากแอมเพิลริช แต่มีเอกสารอยู่ 2 หน้าที่ขอมาจากธนาคารยูบีเอสสิงคโปร์ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลสิทธิประโยชน์ให้แอมเพิลริชว่า "ทักษิณ" เป็นเจ้าของตัวจริงของแอมเพิลริช เพราะคนที่มีอำนาจลงนามแทนแอมเพิลริชระหว่างปี 2542-2548 ซึ่งเป็นช่วงที่ "ทักษิณ" เป็นนายกรัฐมนตรี นั่นก็คือบุคคลที่ชื่อ T.SHINNAVAT
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นข้อกล่าวหาของ "คตส." เรื่อง "ทักษิณ" ถือหุ้นแอมเพิลริช หนึ่งในบริษัทที่เข้ามาถือหุ้นชินคอร์ป แต่หลักฐานบุคคลชื่อ "T.SHINNAVAT" น่าเชื่อถือแค่ไหน ? กลับมาลงรายละเอียดกันวันพรุ่งนี้