ข่าว

น้อมรำลึกพระอัจฉริยภาพด้านจิตรกรรม "ในหลวง ร.9"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เนื่องในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) น้อมรำลึกพระอัจฉริยภาพด้านจิตรกรรม ฝีพระหัตถ์ "ในหลวง ร.9"

 

พระอัจฉริยภาพด้านจิตรกรรม ภาพวาดฝีพระหัตถ์ "ในหลวงรัชกาลที่ 9" ที่หาชมได้ยาก ถ้าจะกล่าวถึงศิลปกรรมของ "ในหลวง ร.9" จิตรกรรมเป็นศิลปะอีก
ประเภทหนึ่งที่พระองค์สนพระราชหฤทัยมาก จนกระทั่งได้ทรงฝึกฝนเขียนภาพด้วยพระองค์เอง จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของพระองค์ในระยะแรก ๆ จะเป็นที่ทราบกันและมีโอกาสได้ชมกันในวงแคบเฉพาะผู้ที่สนใจในงานด้านนี้เท่านั้น

 

บรรดาศิลปินอาวุโสและมีชื่อเสียงของไทยซึ่งเคยได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท เพื่อร่วมปฏิสันถารและแข่งขันการวาดภาพถวายคำปรึกษาแด่พระองค์ท่านในช่วงระยะเวลาระหว่างที่พระองค์สนพระราชหฤทัยใคร่จะได้มีผู้สนใจงานด้านนี้ไว้เพื่อทรงวิสาสะด้วยจึงทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อถวายคำปรึกษาในการเขียนภาพ

 

ในระยะนั้นมีอาจารย์เหม เวชกร อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ อาจารย์จำรัส เกียรติก้อง อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ อาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ อาจารย์จุลทรรศน์ พยาฆรานนท์ อาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ อาจารย์อวบ สาณะเสน และอาจารย์พิริยะ ไกรฤกษ์ เป็นต้น จากปากคำของศิลปินเหล่านี้เป็นที่ทราบว่าพระองค์ทรงเขียนภาพด้วยพระองค์เองตามแนวพระราชดำริ การถวายคำปรึกษานั้นเป็นเพียงด้านเทคนิคในการเขียนภาพเท่านั้น และพระองค์มักจะมีพระราชดำรัสถามแต่เพียงว่า พอไปได้ไหม 

 


 

 

"ในหลวง ร.9" สนพระราชหฤทัยงานศิลปะด้านจิตรกรรม ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ครั้งที่ยังประทับอยู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๐ - ๒๔๘๘) โดยทรงศึกษาด้วยพระองค์เองทรงฝึกเขียนเอง และทรงศึกษาจากตำราต่าง ๆ ทั้งที่ทรงซื้อด้วยพระองค์เองและที่มีผู้ทูลเกล้า ฯถวาย เมื่อสนพระราชหฤทัย งานเขียนของศิลปินผู้ใดก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมศิลปินผู้นั้นถึงที่พัก เพื่อทรงมีพระราชปฏิสันถารและทอดพระเนตร วิธีการทำงานของเขาไม่ว่าจะเป็นวิธีการใช้สีการผสมสี ตลอดจนเทคนิควิธีการต่าง ๆ เมื่อทรงเข้าพระราชหฤทัยการทำงานของเขาอย่างถ่องแท้แล้ว ก็จะทรงนำวิธีการเหล่านั้นมาทรงฝึกฝนด้วยพระองค์เอง

 

ทั้งนี้ก็มิใช่ว่าจะเสด็จฯ ไปเพียงครั้งเดียวแต่จะเสด็จฯไปบ่อย ๆ จนทรงเข้าพระราชหฤทัยในการสร้างสรรค์งานของศิลปินเหล่านั้นเป็นอย่างดี การที่เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรงานของศิลปินที่พระองค์สนพระราชหฤทัยนั้น มิใช่เพื่อจะทรงลอกเลียนแบบงานของศิลปินเหล่านั้น เพียงแต่พระองค์ทรงนำวิธีการทำงานของเขามาสร้างสรรค์งานของพระองค์ขึ้นมาใหม่ให้เป็นแบบฉบับของพระองค์เอง 

 

ภายหลังที่เสด็จฯ ขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงเริ่มเขียนภาพอย่างจริงจังเมื่อราวพุทธศักราช ๒๕๐๒ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญบรรดาจิตรกรไทย
เข้าเฝ้าฯ ร่วมสังสรรค์ด้วยเป็นครั้งคราว โปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงอาหารบ้าง มาร่วมเขียนภาพแข่งขันกันบ้าง การเขียนภาพทรงใช้เวลาเมื่อว่างพระราชภารกิจในตอนค่ำหรือตอนกลางคืน

 

 

 

 

โดยทรงใช้ทั้งแสงไฟฟ้าและแสงธรรมชาติ ภาพที่ทรงเขียนส่วนมากจะเป็นพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทุกพระองค์ ซึ่งมักจะเป็นภาพเขียนครึ่งพระองค์เป็นส่วนใหญ่ "ในหลวง ร.9" ทรงสร้างสรรค์งานจิตรกรรมอยู่เสมอ เมื่อทรงว่างเว้นจากพระราชภารกิจ

 

คราวที่เสด็จฯ ประเทศสหราชอาณาจักรเป็นการส่วนพระองค์และเสด็จฯ เยี่ยมสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขณะประทับเพื่อทรงศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด เมืองซีฟอร์ต แคว้นซัสเซกส์ พ.ศ. ๒๕๐๙ ทรงซื้อหนังสือและสีเขียนภาพกลับมาด้วย ผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์เริ่มเผยแพร่มากขึ้นในคราวที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพเข้าร่วมแสดง ในการแสดงศิลปกรรม ครั้งที่ ๑๔ ปีพุทธศักราช ๒๕๐๖ และในครั้งต่อ ๆ มาอีกหลายครั้ง

 

ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๘ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาจิตรกรรมและในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี กรมศิลปากรได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดนิทรรศการจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของพระองค์ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป มีจำนวน ๔๗ ภาพ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าชม ระหว่างวันที่ ๑ เมษายน ถึง ๓๐ เมษายนพุทธศักราช ๒๕๒๕ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

 

จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่าที่ปรากฏแบ่งออกเป็น ๓ ลักษณะใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ ลักษณะหนึ่งเป็นภาพแบบเหมือนจริง (Realistic) อีกลักษณะหนึ่ง คือ โดยคตินิยมแบบลัทธิเอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ (Expressionism) และที่ได้เห็นกันช่วงหลัง ๆ เป็นศิลปะแบบนามธรรม (Abstractionism)

 

จิตรกรรมฝีพระหัตถ์แบ่งออกเป็นแนวทางต่าง ๆ ดังกล่าวนั้นมิได้หมายความว่า พระองค์ทรงเขียนตามวิธีการในศิลปะนั้น หากแต่ลักษณะการแสดงออกเป็นไปในแบบอย่างที่ใกล้เคียงกัน เทคนิคที่ทรงใช้มากในการเขียนภาพคือเทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ"ในหลวง ร.9" รับสั่งเกี่ยวกับการเขียนภาพของพระองค์ว่าทรงวาดเอง มิได้ทรงปล่อยให้แบบหรือแนวทางของผู้ใดเข้ามามีอิทธิพลต่อกับงานเขียนภาพ

 

และในการวาดภาพนั้นก็ทรงวาดอย่างนักวาดภาพสมัครเล่นคือ ทรงวาดตามที่พระราชหฤทัยนึกจะวาด มิได้ทรงคำนึงถึงทฤษฎีหรือกฎเกณฑ์อันใด ผลงานของพระองค์ท่านออกมาจากพระจินตนาการของพระองค์เอง ฉะนั้นเมื่อชมภาพเขียนฝีพระหัตถ์ก็จะเห็นชัดแจ้งถึงลักษณะที่เป็นอิสระเฉพาะตัว ภาพเขียนแบบเหมือนจริงที่ทรงเขียน ส่วนใหญ่จะเป็นภาพพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถและทูลกระหม่อมทุกพระองค์ นอกเหนือจากภาพดังกล่าว ได้แก่ ภาพที่ชื่อ สมเด็จพระราชบิดา ภาพเหล่านี้มีความกลมกลืน งดงามของแสงเงาอย่างนุ่มนวล ให้บรรยากาศลึกซึ้ง ชวนฝัน

 

และที่ทรงใช้ฝีแปรงอย่างกล้าหาญมากกว่าภาพอื่น ๆ ก็คือ ภาพหญิงชรา (ไม่ประทานชื่อ ๑๑ - ๖ - ๐๗) เป็นต้น สำหรับภาพเขียนแบบเอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์นั้นทรงแสดงออกด้วยพระอารมณ์ความรู้สึกที่ออกมาจากส่วนลึกของพระราชหฤทัยโดยตรง มิได้ทรงกลั่นกรองให้เกิดความสวยงามหรือถูกต้องใด ๆ มีลักษณะเป็นการแสดงออกอย่างจริงใจ และบริสุทธิ์ใจ ทรงใช้สีอย่างกล้าหาญสดใสและรุนแรง

 

ส่วนภาพเขียนแบบนามธรรม เป็นผลงานที่พระองค์ทรงพัฒนามาจากงานเขียนในลักษณะ เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ จนกลายเป็นการแสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึกอย่างอิสระ ปราศจากรูปทรงและเรื่องราว มีความรู้สึกจริงจัง แฝงอยู่ในผลงานที่แสดงออกด้วยการใช้ฝีแปรงหยาบ ๆ สีสันที่ตัดกันลงตัว เช่นภาพชื่อ ดินน้ำลมไฟ เป็นต้น 

 

หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ทรงตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ว่า "ในหลวง ร.9" ได้ทรงเริ่มเขียนภาพเหมือนซึ่งเหมือนจริง และละเอียดมาก แต่ต่อมาได้ทรงวิวัฒน์เข้ากับภาพของจิตรกรสมัยใหม่และทรงค้นคว้าหาทางใหม่ ๆ แปลก ๆ ที่จะแสดงออกซึ่งความรู้สึกของพระองค์โดยไม่ต้องกังวลกับ
ความเหมือนอันจะมีอิทธิพลบีบบังคับไม่ให้ปล่อยความรู้สึกออกมาได้อย่างอิสระ "ในหลวง ร.9"  ทรงเป็นศิลปินโดยแท้ ทรงชื่นชมในงานศิลปินอื่นเสมอ

 

และดูจะไม่เคยทรงพอพระราชหฤทัยกับภาพเขียนของพระองค์และวิธีการที่ทรงเคยใช้อยู่แล้ว และแม้ว่าโปรดที่จะค้นคว้าหาวิธีใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ ภาพฝีพระหัตถ์ของพระองค์ยังคงเค้าลักษณะอันเป็นแบบฉบับของพระองค์เองโดยเฉพาะ ขณะที่ทรงวาดภาพนามธรรมที่มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ แต่เป็นสาระ ดังเช่น ภาพที่พระราชทานชื่อว่า วัฏฏะ  โลภะ  โทสะ ยุแหย่  อ่อนโยน บุคลิกซ้อน  ก็ยังทรงเขียนรูปในลักษณะสวยงามน่ารัก กระจุ๋ม กระจิ๋มได้ดีอีกด้วย ทั้งที่ไม่สู้จะตรงกับพระราชอัธยาศัยเท่าใดนัก

 

ในฐานะจิตรกร ขณะทรงงานทรงใส่อารมณ์และความรู้สึกของจิตรกรอย่างเต็มที่ ทรงมีความรู้สึกตรงและรุนแรง ทรงใช้สีสดและเส้นกล้า ส่วนมากโปรดเส้นโค้ง แต่ในบางครั้งบางคราวก็มีข้อดลพระราชหฤทัยให้ทรงใช้เส้นตรงและเส้นแบบฟันเลื่อย 

 

"ในหลวง ร.9" ทรงงานจิตรกรรมตั้งแต่ขึ้นครองราชย์จนถึงราว ๆ พุทธศักราช ๒๕๑๐ มิได้ทรงเขียนภาพอีกเพราะทรงมีพระราชภารกิจด้านอื่นที่ต้องทรงเอาพระราชหฤทัยใส่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ทรงอุทิศเวลาส่วนใหญ่เพื่อประชาชน เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรและทรงเข้าร่วมแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนต่าง ๆ ของราษฎรทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อีกจำนวนมากทั้งด้านการเกษตร การชลประทาน ฯลฯ เพื่อให้พสกนิกรของพระองค์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม จึงไม่ทรงมีเวลาสร้างผลงานด้านจิตรกรรม ถึงกระนั้นก็ปรากฏว่ามีภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ที่เผยแพร่แล้วจำนวน ๔๗ ภาพ และที่ยังไม่เคยเผยแพร่อีกจำนวนประมาณ ๖๐ ภาพ

 

ขอบคุณ ที่มา เพจรวมใจภักดิ์  รักสามัคคี ทำความดีถวายในหลวง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ