ข่าว

สมชัย เหน็บ ไพบูลย์ หนุนยก "ร่าง กม.ลูก" สูตรกินรวบ ทั้งที่ได้ดีเพราะปัดเศษ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อดีต กกต. สมชัย ศรีสุทธิยากร เหน็บ ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้า พปชร. หนุนยก "ร่างกฎหมายลูก" คำนวณจำนวน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์แบบกินรวบ ทั้งที่ได้เป็น ส.ส.เพราะปัดเศษต่ำเกณฑ์ เชื่อเรื่องนี้ร้อนแน่

 

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร   อดีต กกต.โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับ"ร่างกฎหมายลูก"  โดยพาดหัวว่า ร่าง พ.ร.ป.ส.ส. ฉบับกินรวบ ของ พปชร. 

 

พรรคประชาชนปฏิรูป ได้รับคะแนนทั้งประเทศเพียง 40,000 เศษ แต่ได้อานิสงค์จากการคำนวณแบบปัดเศษโดยไม่ได้คำนึงถึงค่าเฉลี่ยขั้นต่ำของคะแนนเสียงที่นำมาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ที่ 71,000 คะแนน  ทำให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมา 1 คน ชื่อ ไพบูลย์ นิติตะวัน อีกไม่นาน ส.ส.บัญชีรายชื่อคนดังกล่าว ก็ยุบพรรคตัวเอง แล้วไปสมัครเป็นสมาชิกพรรค พปชร. ได้ดิบได้ดีเป็นถึงรองหัวหน้าพรรคนั่งประชุมเคียงคู่หัวหน้าพรรค ไม่เกรงใจ ส.ส.
ในพรรคที่มีอยู่เดิม ไม่สนใจว่าจะเป็นพระบวชใหม่เข้าพรรคทีหลังต้องอยู่หางแถว 

 

วันนี้ เขาเตรียมเสนอร่าง พ.ร.ป. ส.ส. ในนามพรรค พปชร. ให้คะแนนปัดเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยล็อคขั้นต่ำว่า พรรคไหนได้ไม่ถึง 320,000 คะแนน อย่ามามีเอี่ยวกับคะแนนปัดเศษ ข้าจะแบ่งกันเอง ระหว่างพรรคที่ได้เกิน 320,000 คะแนนเท่ากับมีการกำหนดขั้นต่ำกว่าพรรคที่จะได้บัญชีรายชื่อต้องได้คะแนนจากทั้งประเทศอย่างน้อยร้อยละ 1ของคะแนนผู้ใช้สิทธิทั้งประเทศ นี่คือหลักการใหม่ที่จะงอกเพิ่ม ในร่าง พ.ร.ป. ส.ส. 

 

เป็นหลักการในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ พปชร.และเพื่อไทย เคยเสนอ และถูกรัฐสภาลงมติไม่รับหลักการไปแล้ว 

 

ทีสมัยตัวเอง เห็นดีเห็นชอบให้ปัดเศษเจือจานไปถึงพวกต่ำเกณฑ์  วันนี้ กินรวบไม่ให้เหลือ เรื่องนี้ ร้อนแน่ครับ

 

 

 

ก่อนหน้านี้นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในประเด็นร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก ทั้งตัวพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และพรรคการเมือง ว่า ร่างเสร็จแล้วรอนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร.ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรครัฐบาล(วิปรัฐบาล)หารือกับวิป 3 ฝ่ายก่อน

 

ส่วนประเด็นแก้ไข นายไพบูลย์ บอกว่ามีเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 บัตร จะแก้ไปตามรัฐธรรมนูญเพราะรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยประชาธิปัตย์ในมาตรา91วิธีคำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อก็ใช้ถ้อยคำมาจากรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมปี 2554 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็แก้ไขโดยใช้ถ้อยคำ คือ ใช้คะแนนรวมให้เป็นสัดส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับคะแนนของทั้งประเทศซึ่งเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญปี 2554 และใน"กฎหมายลูก"ก็เขียนตามรัฐธรรมนูญ ในการนับคะแนนก็นับโดยที่นับคะแนนรวมทั้งประเทศเมื่อเสร็จก็นำมาหารด้วยจำนวน ส.ส. 

 

โดยในปี 2564 การแก้ไขมาตรา83 มีส.ส.100 คนจะนำ ส.ส.100คนมาหารจากคะแนนรวมทั้งประเทศ และจะได้คะแนนที่ส.ส.พึงมีต่อ1คน สมมุติ หารคะแนนที่ประชาชนมาออกเสียง 32 ล้านใบก็จะนำมาหาร100 จะเท่ากับ 320,000 คน และนำคะแนนนี้ไปหารคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้ ถ้าหารแล้วได้คะแนนออกมาจะดูให้ได้จำนวนเต็ม คือ 1เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป พรรคใดที่ได้ตั้งแต่ 320,000ขึ้น ไป จะได้ส.ส.ตามจำนวนเต็มก่อน

 

ส่วนเศษยังไม่พูดถึง เมื่อแบ่งช่วงแรกไปแล้วพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้รับการจัดสรร ส.ส.พึงมีไปแล้วเหลือ ส.ส.ที่อาจจะไม่ครบ100 อย่างแบ่งไปแล้วได้ 97 คน ถือว่าเหลือส.ส.3 คน จะมาดูว่าพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเต็มหรือได้1เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป มีพรรคการเมืองใดได้เศษมากที่สุด พรรคการเมืองนั้นก็จะได้ส.ส.เพิ่มอีกคน  
 

 

 

 

นี่เป็นแนวของพ.บ.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ปี 2554 ซึ่งในร่างของพรรคพปชร.ก็ร่างมาในแนวนี้ ดังนั้น จะไม่มีส.ส.ที่พรรคได้คะแนนไม่ถึง320,000 คน การได้ส.ส. จะต้องได้คะแนนเต็มและพรรคที่ได้คะแนนเต็มเท่านั้น ถึงจะได้เศษ จะไม่มีส.ส.พรรคปัดเศษ เพราะจะต้องได้คะแนนเต็มก่อนเศษที่เหลือถึงค่อยมาแบ่งกัน เนื่องจากรัฐธรรมนูญเขียนอย่างนี้กฎหมายเลือกตั้งปี 2554 เขียนอย่างนี้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญ2564 จะเขียนแบบเดียวกัน แก้ไข คงเหมือนกัน ต้องไปแนวทางแบบนี้

logoline