ข่าว

"ครม." ไฟเขียว เปิดเสรีบริการทางการเงินอาเซียน ฉบับที่ 9

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ครม." ไฟเขียว ร่างพิธีสารฯ เปิดเสรีบริการทางการเงินอาเซียน ฉบับที่ 9 เปิดโอกาสเอกชนขยายการค้า-การลงทุนสาขาบริการทางการเงินในอาเซียนมากขึ้น

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม "ครม." มีมติเห็นชอบร่างพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 9 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services: AFAS) 

 

และร่างตารางข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 9 ซึ่งเป็นภาคผนวกแนบท้ายร่างพิธีสาร โดยจะมีการลงนามร่วมกันแบบเสมือนจริง (Virtual Signing) ในช่วงการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

สำหรับสาระสำคัญของร่างพิธีสารฯ ฉบับที่ 9 มีสาระเช่นเดียวกันกับฉบับที่ 8 ซึ่งได้ลงนามไปแล้ว คือ เป็นการขยายความร่วมมือด้านการค้าบริการระหว่างประเทศสมาชิก โดยลดหรือยกเลิกข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าบริการภายใต้กรอบอาเซียนให้มากกว่าที่เปิดเสรีตามกรอบขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) และประเทศสมาชิกจะให้สิทธิประโยชน์ตามร่างตารางข้อผูกพันฯ แก่ประเทศสมาชิกอื่น ดังนี้

 

1.ประเทศสมาชิกที่เป็นสมาชิก WTO จะต้องคงการให้สิทธิประโยชน์ตามข้อผูกพันเฉพาะของตนภายใต้ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการแก่ประเทศสมาชิกอื่นที่มิใช่สมาชิก WTO

 

2.ประเทศสมาชิกจะให้สิทธิประโยชน์ตามร่างตารางข้อผูกพันแก่ประเทศสมาชิกอื่น ตามหลักการให้การประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favored Nation Treatment: MFN)

3.ประเทศสมาชิกตั้งแต่ 2 ประเทศหรือมากกว่านั้น อาจดำเนินการเจรจาและตกลงเปิดเสรีสาขาการธนาคารของประเทศตนตามหลักการและการดำเนินการภายใต้กรอบการรวมตัวสาขาการธนาคารของอาเซียน โดยแต่ละประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการเจรจาอาจสรุปผลการเจรจา ณ เวลาใดก็ได้

 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ส่วนร่างตารางข้อผูกพันฯ ฉบับที่ 9 มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงตารางข้อผูกพันในสาขาการธนาคาร โดยเพิ่มเสรีเพิ่มเติมในสาขาย่อยการบริการชำระเงิน และการส่งเงิน (Payment and Money Transmission Services) สำหรับธุรกิจตัวแทนโอนเงินระหว่างประเทศ (Cross-border Money Transfer Services) โดยอนุญาตให้มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติได้สูงสุดร้อยละ 49 ซึ่งปัจจุบันกฎหมายของไทยอนุญาตให้มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติได้สูงสุด ร้อยละ 79

 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า การเปิดเสรีภายใต้กรอบดังกล่าว จะช่วยสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทั้งในเชิงลึกและกว้างขวางมากขึ้น

 

นอกจากนั้น ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนไทยสามารถขยายการค้าการลงทุนในสาขาบริการทางการเงินไปยังประเทศอาเซียนได้สะดวกยิ่งขึ้น

 

ในส่วนของประเทศไทยนั้น การผูกพันการเปิดเสรีเพิ่มเติมในภาคธนาคาร สาขาย่อยธุรกิจตัวแทนโอนเงินระหว่างประเทศ จะช่วยสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนและลดค่าธรรมเนียมการให้บริการจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

 

อีกทั้งการเปิดเสรีดังกล่าว ยังอยู่ภายใต้กฎหมายปัจจุบันของธนาคารแห่งประเทศไทยจึงไม่ต้องมีการปรับแก้กฎหมายภายในเพิ่มเติม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ