ข่าว

รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ "ในหลวงรัชกาลที่ 9" แก้ปัญหานํ้าเสีย น้ำเค็ม น้ำกร่อย

13 ตุลาคม 2564 น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ "ในหลวงรัชกาลที่ 9" ศาสตร์พระราชาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ แก้ไขปัญหานํ้าเสีย น้ำเค็มและน้ำกร่อย ด้วยพระราชหฤทัยเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขปวงชนชาวไทย

 

13 ตุลาคม 2564 น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ "ในหลวงรัชกาลที่ 9" ศาสตร์พระราชา เรื่อง การบริหารจัดการน้ำ แก้ไขปัญหานํ้าเสีย ด้วยพระราชหฤทัยเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขปวงชนชาวไทย

“…หลักสำคัญว่า ต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้…”

พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2529 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า พระองค์ทรงให้ความสำคัญในเรื่อง “น้ำ” เป็นอย่างยิ่ง เพราะมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตและอาชีพของปวงชนชาวไทยทุกคน

 

 

 

การแก้ปัญหานํ้าเสีย

  • แนวพระราชดําริในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียทางการเกษตรในที่นี้หมายถึง น้ำเค็มและน้ำกร่อย โดยมีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้

การแก้ไขปัญหาน้ำเค็มจากการทํานาเกลือ

  • ในพื้นที่เขตอําเภอวานรนิวาส และ อําเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการสูบน้ำใต้ดินซึ่งมีสารละลายของเกลือจากเกลือหินอยู่ใต้ดิน ในปัญหาดังกล่าวเกิดจากผู้ทํานาเกลือปล่อยน้ำเค็มจากการทํานาเกลือลงสู่ลําน้ำสาธารณะ แล้วแพร่กระจายไปในพื้นที่ไร่นา หรือน้ำฝนซะลานตากเกลือ ทําให้ได้ผลผลิตข้าวที่ปลูกลดลง

 

"ในหลวงรัชกาลที่ 9" ได้พระราชทานพระราชดําริถึงแนวทางแก้ไขแก่ผู้ทํานาเกลือให้สามารถดําเนินการได้ โดยต้องไม่ทําความเสียหายแก่พื้นที่ ปลูกข้าวใกล้เคียง กล่าวคือ ผู้ทํานาเกลือทั้งหลายจะต้องจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งที่บริเวณลานตากเกลือ ขุดเป็นสระเก็บน้ำสําหรับรองรับน้ำเค็มที่ปล่อยทิ้งจากลานตากเกลือทั้งหมดเก็บไว้ในสระเพื่อรอการระเหยหรือไหลลงในดิน โดยบ่อบาดาลเล็ก ๆ ที่ขุดขึ้นเพื่อระบายน้ำลงสู่ชั้นน้ำเค็มใต้ดินที่สูบขึ้นมา

 

  • ขนาดของสระน้ำดังกล่าวจะมีขนาดและความลึกเท่าใด ต้องกําหนดให้สัมพันธ์กับปริมาณน้ำทิ้งจากลานตากเกลือ และความสามารถของน้ำในสระที่ไหลลงไปใต้ดิน ทั้งนี้ ให้มีความสมดุลพอดีกัน โดยไม่ทําให้น้ำเค็มไหลล้นไปยังลำน้ำสาธารณะ

 

  • ดังนั้น ระบบการทํานาเกลือสินเธาว์ที่ได้มาตรฐาน ตามแนวพระราชดําริ จึงมีบ่อรับน้ำทิ้งจากลานตากเกลือ และระบบการกําจัดโดยการอัดน้ำเหล่านี้สู่ชั้นน้ำเกลือที่สูบขึ้นมา ซึ่งจะสามารถป้องกันน้ำเค็มที่ระบายจากลานตากเกลือมิให้ไหลลงในร่องน้ำและพื้นที่ใกล้เคียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังพระราชดำารัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ณ ศาลาดุสิตาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2533 ความว่า

 

 

 

"...เมื่อประมาณ 4 ปีมานี้ ได้วางโครงการที่อําเภอบ้านม่วง ที่หมู่บ้านที่ชื่อว่าบ้านจาร แล้วก็ได้ช่วยทําอ่างเก็บน้ำ ก็ได้ผล ชาวบ้านเหล่านั้นเขาไม่อยากที่จะทําการต้มเกลือหรือทํานาเกลือ เพราะทราบดีว่าถ้าทําแล้วนาข้าวเสียหาย ก็ได้สนับสนุนเขา และปีนี้เขาสามารถทํานาข้าวได้ดี เขาก็ดีใจมาก แต่ก็ยังมีกิจการนาเกลือหรือต้มเกลืออยู่อีกมาก ซึ่งมีผลเสียหลายประการ ให้ดินในแถวนั้นเค็มไม่สามารถปลูกพืชต่าง ๆ ทําให้น้ำที่ลงมาในห้วยกร่อยหรือเค็ม ทําให้ไม่สามารถใช้น้ำทําการเพาะปลูกหรือบริโภค ข้อดีของการทําเกลือนี้ก็คือทําให้ประชาชนมีรายได้ เพราะว่ารายได้ของการต้มเกลือ หรือทํานาเกลือนั้นก็ดีพอสมควร เพราะว่าตลาดโลกยังต้องการเกลือชนิดที่ผลิตในภาคอีสานอีกมาก

 

...แต่ถ้าเราสามารถทําทั้งนาเกลือด้วย และทํานาข้าวได้ด้วย โดยวางโครงการไว้ให้ดี รวมทั้งให้มีน้ำบริโภค ก็จะเป็นการดียิ่ง จึงได้พยายามหาทางปฏิบัติ เพื่อที่จะให้มีทั้งบ่อเกลือ คือ นาเกลือ มีทั้งนาข้าวได้และยังมีน้ำบริโภคด้วย วิธีซึ่งไม่ยากนักในการทํานาเกลือที่ป้องกันมิให้เกิดความเสียหายมากเกินไป คือ สูบน้ำจากในดินขึ้นมาทํานาเกลือ และเมื่อใช้น้ำนั้นแล้ว แทนที่จะเทลงห้วยก็เทกลับลงไปในดิน ซึ่งทําได้ เพราะว่าดูดน้ำขึ้นมาจากดินก็มีเกลือขึ้นมาด้วย Bisaw ทําให้มีโพรงใต้ดิน ถ้านาน้ำลงไปแทนที่ ก็ทํากันได้ แล้วก็ ไม่สิ้นเปลืองมากนัก แต่ย่อมต้องมีการสิ้นเปลืองบ้าง ถ้าไหลลงไปในห้วยไม่ต้องสิ้นเปลืองอะไรเลย แต่ว่าข้อเสียของการเทลงไปในห้วยก็คือ น้ำในห้วยกร่อย ที่อื่นเขาจะทําน้ำประปาก็ ไม่ได้ ทั้งใต้ดินก็เป็นโพรง มีการยุบลงไป ดังที่สื่อมวลชนได้รูปมาแพร่ข่าวเมื่อไม่กี่เดือนนี้

 

...ฉะนั้นถ้าวางข้อบังคับที่เหมาะสมในการทํานาเกลือ หรือทําบ่อเกลือ จะได้ประโยชน์ทั้งสองทาง จะสามารถกําจัดข้อเสียและสามารถให้เกิดข้อดีได้ คือน้ำในห้วยจะไม่เค็ม ก็จะทํานาข้าวได้ ทุกคนก็จะได้ประโยชน์ ใครอยากทํานาข้าวก็จะทำนาข้าวได้ ใครอยากทํานาเกลือก็จะทํานาเกลือได้ ทั้งหมดนี้ ทั้งเรื่องน้ำท่วมและเรื่องเกลือนี้ จะต้องคิดให้กว้างขวางและรอบคอบ ละเอียดลออให้เห็นผลดี ผลเสียที่แท้จริง..."

 

แนวพระราชดําริในการแก้ไขปัญหาน้ำเค็ม

  • ในบริเวณพื้นที่ที่ติดกับทะเล มักประสบปัญหาน้ำเค็มรุกเข้าไปในลําน้ำ ทําให้เกิดปัญหาน้ำกร่อย ซึ่งไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูกและไม่สามารถใช้ บริโภคได้ แม่น้ำบางนราซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส มีลําน้ำซึ่งยาวประมาณ 20 กม. มีทางออกทะเล 2 ทาง คือ ที่อําเภอเมือง และอําเภอตากใบ จึงทำให้แม่น้ำบางนราตลอดทั้งสายได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลขึ้น - ลง และทําให้สภาพน้ำเป็นน้ำเค็มและน้ำกร่อย

 

"ในหลวงรัชกาลที่ 9" พระราชทานพระราชดําริให้กรมชลประทานพิจารณาสร้างประตูบังคับน้ำปิดกั้นปากแม่น้ำบางนราตอนบนและตอนล่าง เพื่อกันน้ำเค็มจากทะเลมิให้ไหลเข้าไปตามแม่น้ำ โดยที่ยังสามารถเก็บกักน้ำจืดไว้ใช้ได้ตลอดปีในพื้นที่ 305,000 ไร่ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือในการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ และได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างประตูระบายน้ำทั้ง 2 แห่ง ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2533

 

 

ข่าวยอดนิยม