ข่าว

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์.. "ในหลวง ร.9" เหนือความงดงาม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เนื่องในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในงานศิลปะหลายแขนง ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์. "ในหลวง ร.9 "เหนือความงดงาม

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า อัครศิลปิน เนื่องจากทรงพระปรีชาสามารถในงานศิลปะหลายแขนง หนึ่งในนั้นคือพระอัจฉริยภาพด้าน การถ่ายภาพ

 

ภาพชินตาของประชาชนคนไทยตลอด 70 ปีทรงครองราชย์ ไม่ว่าจะเป็นการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่าง ๆ หรือทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ของใช้ส่วนพระองค์ติดพระวรกายตลอดเวลา นอกจากสมุด ดินสอ และแผนที่ นั่นก็คือ กล้องถ่ายภาพ  

 

จากบันทึกต่าง ๆ ทำให้เราทราบกันดีว่า ในหลวง "รัชกาลที่ 9" โปรดปรานการถ่ายภาพมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์เช่น หนังสือ “กษัตริย์และกล้อง” โดย ศักดา ศิริพันธุ์ (ราชบัณฑิต) จัดพิมพ์โดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในบทยุคการถ่ายภาพเฟื่องฟูสมัย "รัชกาลที่ 9" บรรทัดที่ว่า “...เมื่อพระองค์มีพระชนมพรรษาได้ 8 พรรษา สมเด็จพระบรมราชชนนีได้ซื้อกล้องถ่ายภาพยี่ห้อ Coronet Midget พระราชทานให้พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช....”

 

นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทรงถ่ายภาพในช่วงเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำรงพระยศเป็นพระอนุชา ทรงฉายภาพรามเกียรติ์ที่ผนังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือ วัดพระแก้ว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พิมพ์ลงในหนังสือพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร

 

นอกจากนี้ พระองค์ท่านยังทำหน้าที่เสมือนช่างภาพส่วนพระองค์ในขณะตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลอีกด้วย เมื่อขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ก็โปรดฉายภาพสิ่งต่าง ๆ เป็นประจำ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์จะปรากฏบนปกนิตยสารต่าง ๆ เสมอ เช่น วารสารแสตนดาร์ดของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร

 

 

 

ครั้งหนึ่งในหลวง "รัชกาลที่ 9" เคยมีพระราชดำรัสอย่างพระอารมณ์ขันแก่คนสนิทว่า....“ฉันเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ฉันก็ยังมีอาชีพเป็นช่างภาพของหนังสือพิมพ์แสตนดาร์ด ได้เงินเดือนเดือนละ 100 บาท ตั้งหลายปีมาแล้ว จนบัดนี้ก็เห็นเขายังไม่ขึ้นเงินเดือนให้สักที เขาก็คงถวายไว้เดือนละ 100 บาทอยู่เรื่อยมา”

 

นอกจากนี้ ยังมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการที่ทรงเป็นช่างภาพสมัครเล่นความว่า...คนบางคนคิดว่า สมัยนี้รถยนต์ที่วิ่งเรียบและเปิดหลังคาโล่ง ได้เข้ามาแทนที่การนั่งช้างอันโขยกเขยกในราชพิธีเป็นส่วนมากแล้วในเมืองไทย การถ่ายรูปจึงเป็นของง่ายสำหรับพระเจ้าอยู่หัว ฉันคิดว่านี่ก็จริงอยู่อย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่มันยังไม่ใช่แก่นแท้ของปัญหาทีเดียว แก่นแท้ของปัญหานั้นคือว่า ในราชพิธีท่านไม่อาจเปิดกล้องลงมือถ่ายรูปคนอื่น ๆ ทุกคน บรรดาที่เขาเองก็พากันกำลังจ้องถ่ายรูปตัวท่านอยู่ได้อย่างสบายนักหรอก

 

นอกจากนั้นแล้วรูปถ่ายพระเจ้าอยู่หัวก็จะไม่มีภาพพระเจ้าอยู่หัวติดอยู่ บางคนเคยแนะนำให้ฉันเอากล้องคอนแทกซ์ สวมติดไว้กับผิวหนังแล้วให้เจาะรูเล็ก ๆ ที่เครื่องแต่งกาย พอให้เลนซ์โผล่ออกมาข้างนอกได้เพื่อให้ดูคล้าย ๆ เครื่องปราศรัยอีกอย่างหนึ่ง แต่นี่ฉันคิดว่าคงไม่ได้ผล ฉันพยายามแก้ปัญหาสองวิธี วิธีแรก ฉันก็มองรูปที่ฉันต้องการถ่ายไว้ก่อนลงมือ จากนั้นก็ตั้งกล้องแล้วขอให้เพื่อนคนหนึ่งชี้ล่อประชาชนไปทางอื่น แล้วฉันก็กดปุ่มให้ทันที

 

 

แต่อย่างไรก็ตาม วิธีนี้มีเพื่อน ๆ น้อยคนนักจะทำได้ถูกต้อง อีกวิธีหนึ่งก็คือ ฉันเอากล้องคอนแทกซ์ใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกง พอมโหรีเริ่มบรรเลงหรือมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ที่จะทำให้ฝูงชนหันจากฉันไปเสียทางอื่นฉันก็รีบควักกล้องออกมาถ่ายแล้วเก็บลงกระเป๋ากางเกงอีก แต่ไม่สนุกเลยจริงๆ (สยามนิกร, 27 ก.พ. 2493 อ้างในพระบรมราโชวาทพระราชดำรัสฯ, มปป : หน้า 1-2)

 


 

 

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "รัชกาลที่ 9" พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่อง การถ่ายภาพ อีกสองครั้ง ได้แก่ เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ คณะกรรมการจัดทำหนังสือภาพพัฒนาประเทศเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2537 ความว่า...

 

รูปที่ถ่าย เราก็ปะตัดเอาไปให้หนังสือพิมพ์ พิมพ์ขึ้นมาเป็นหนังสือเป็นสิ่งที่ให้ความสุข ให้ความสบายใจ ก็เพราะว่าการถ่ายรูปนั้นไม่ได้ตั้งใจจะถ่ายรูปให้เป็นศิลปะ หรือจะเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงอะไร เป็นแต่เพียงกดชัตเตอร์สำหรับเก็บรูปให้เป็นที่ระลึก แล้วถ้ารูปนั้นดี มีคนได้เห็นรูปเหล่านั้นและพอใจ ก็จะทำให้เป็นการแผ่ความสุขไปให้ผู้ที่ได้ดู เพราะว่าเขาชอบหมายความว่าได้ให้ เขามีโอกาสได้เห็นทัศนียภาพที่เขาอาจไม่ค่อยได้เห็น หรือในมุมที่เขาไม่เคยเห็น ก็แผ่ความสุขไปให้เขาอีกทีหนึ่ง เป็นจุดประสงค์ของการถ่ายรูป
 

 

และในงาน The First Annual Bangkok Art & Photography Event 2007 มีพระราชดำรัสความว่า การถ่ายภาพเป็นงานศิลปะ เป็นของดีมีประโยชน์ ขออย่าได้ถ่ายภาพกันเพื่อความสนุกสนานหรือความสวยงามเท่านั้น จงใช้ภาพให้เกิดคุณค่าแก่สังคมให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม งานศิลปะจะได้ช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อีกแรงหนึ่ง
         

 

ด้วยความสนพระราชหฤทัยในเรื่องการถ่ายภาพ และพระปรีชาสามารถในการถ่ายภาพนี้ ประกอบกับมีพระราชประสงค์จะทรงใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายอย่างกว้างขวาง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งส่วนช่างภาพส่วนพระองค์ขึ้นในสำนักพระราชวัง เพื่อทำหน้าที่บันทึกภาพล้างอัดขยายภาพ อนุรักษ์ภาพ และให้บริการภาพแก่ผู้ที่มาติดต่อขอไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "รัชกาลที่ 9" ซึ่งมีจำนวนมากมาย

 

แต่สามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ ภาพแนวจิตรศิลป์ และ ภาพแสดงพระราชปณิธานในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มิได้เพียงแสดงความงามทางศิลปะหรือวิจิตรศิลป์เพียงอย่างเดียว ยังมีคุณประโยชน์อเนกอนันต์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตพสกนิกรของพระองค์และพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศอีกด้วย นับได้ว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงใช้ศิลปะการถ่ายภาพเพื่อการพัฒนาประเทศในอีกมุมหนึ่งโดยแท้

 

ขอบคุณ-  มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์


 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ