ข่าว

รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ "ในหลวงรัชกาลที่ 9" แก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ ทฤษฎีใหม่

13 ตุลาคม 2564 น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ "ในหลวงรัชกาลที่ 9" ศาสตร์พระราชาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ทฤษฎีใหม่ ด้วยพระราชหฤทัยเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขปวงชนชาวไทย

 

13 ตุลาคม 2564 น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวง ร.9 วันคล้ายวันสวรรคต "ในหลวงรัชกาลที่ 9" คมชัดลึกออนไลน์ เทิดพระเกียรติ พระอัจฉริยภาพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านการบริหารจัดการน้ำในทุกด้าน ถ้าน้ำขาดแคลนก็ทรงหาวิธีจัดหาน้ำให้ และเมื่อน้ำท่วมก็ทรงบรรเทาให้น้อยลง และทรงหาวิธีป้องกันให้ หรือมีน้ำเน่าเสียก็ทรงจัดการแก้ไขให้ ศาสตร์พระราชาเรื่องการบริหารจัดการน้ำจึงมีหลายสิบทฤษฎี ทรงเปี่ยมไปด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในด้านนี้อย่างแท้จริง

แนวพระราชดําริเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แสดงไว้อย่างชัดเจนในกระแสพระราชดํารัสที่พระราชทานเนื่องในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ "The Third Princess Chulabhorn Science Congress" ณ โรงแรม แชงกรี-ลา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2538

“...การพัฒนาแหล่งน้ำนั้น ในหลักใหญ่ก็คือ การควบคุมน้ำ ให้ได้ดังประสงค์ ทั้งปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือ เมื่อมีปริมาณน้ำมากเกินไป ก็ต้องหาทางระบายออกให้ทันการณ์ ไม่ปล่อยให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายได้ และในขณะที่เกิด ภาวะขาดแคลน ก็จะต้องมีน้ำกักเก็บไว้ใช้อย่างเพียงพอ ทั้งมีคุณภาพเหมาะสมแก่การเกษตร การอุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภค ปัญหาอยู่ที่ว่า การพัฒนาแหล่งน้ำนั้นอาจมีผลกระทบกระเทือนต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่ถ้าไม่มีการควบคุมน้ำที่ดีพอแล้ว เมื่อเกิดภัยธรรมชาติขึ้น ก็จะก่อให้เกิดความเดือดร้อน สูญเสีย ทั้งในด้านเศรษฐกิจและในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งส่งผลกระทบเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง…”

 

 

 

"ในหลวงรัชกาลที่ 9" พระราชทานแนวพระราชดําริในการพัฒนาแหล่งน้ำผิวดินให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมชลประทาน ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยพัฒนาเป็นงานหลายประเภท ได้แก่ งานอ่างเก็บน้ำ งานฝ่ายทดน้ำ งานชุดลอกหนองและบึง และงานสระน้ำ สรุปได้ดังนี้ คือ

งานอ่างเก็บน้ำ

อ่างเก็บน้ำเกิดจากการสร้างเขื่อนปิดกั้นระหว่างหุบเขาหรือเนินสูง เพื่อกัก เก็บน้ำที่ไหลลงมาจากร่องน้ำ ลําธารตามธรรมชาติ ปริมาณน้ำที่เขื่อนสามารถกักเก็บไว้ได้ขึ้นกับความสูงของเขื่อนแต่ละแห่ง อ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคอันเนื่องมาจากพระราชดําริ ส่วนใหญ่มักมีสันเขื่อนซึ่งสูงไม่มากนัก และมักก่อสร้างเป็น "เขื่อนดิน" ซึ่งเกิดจากการนําดินมาบดอัดให้แน่นเป็นตัวเขื่อน นอกจากการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำแล้วจะต้องสร้างอาคารระบายน้ำล้นเพื่อควบคุมระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำมิให้ล้นข้ามสันเขื่อน และสร้างท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่ตัวเขื่อน เพื่อใช้ควบคุมน้ำที่จะส่งออกไปให้กับพื้นที่เพาะปลูกซึ่งอยู่ท้ายอ่างเก็บน้ำ

ประโยชน์ของอ่างเก็บน้ำ นอกจากแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งแล้ว ทําให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกได้ตลอดปี ยังเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน ลดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่สองฝั่งน้ำ และยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์อีกด้วย งานอ่างเก็บน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีการก่อสร้างในภูมิภาค ต่าง ๆ อาทิ

 

 

 

  • ภาคเหนือ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยป่าไผ่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ต๋ำ จังหวัดพะเยา เป็นต้น
  • ภาคกลางและภาคตะวันตก ได้แก่ อ่างเก็บนาห้วยซับตะเคียน อําเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี อ่างเก็บน้ำห้วยไม้ตาย อําเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อ่างเก็บนาห้วยเดียก อําเภอเมือง จังหวัดสกลนคร อ่างเก็บน้ำลําพะยัง อําเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นต้น
  • ภาคใต้ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง อ่างเก็บน้ำคลองหลา จังหวัดสงขลา เป็นต้น

 

งานฝายทดน้ำ

  • ฝายทดน้ำ คือ สิ่งก่อสร้างที่สร้างปิดขวางทางน้ำไหล เพื่อทดน้ำที่ไหลมาให้มีระดับสูงขึ้นจนสามารถผันน้ำเข้าไปตามคลองหรือคูส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกบริเวณสองฝั่งลำน้ำได้สะดวก
  • ฝายที่สร้างขึ้นจะต้องกำหนดให้มีขนาดความสูงพอสมควร เพื่อทดน้ำให้ไหลเข้าคลองส่งน้ำได้ และสันฝ่ายก็จะต้องมีขนาดความยาวที่สามารถระบายน้ำจํานวนมากในฤดูน้ำหลากให้ไหลล้นข้ามสันฝายไปได้ทั้งหมดอย่างปลอดภัย โดยไม่ทําให้เกิดน้ำท่วมตลิ่งที่บริเวณด้านเหนือฝายมากเกินไป
  • ฝายที่สร้างกันโดยทั่วไปมักมีรูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู อาจมีลักษณะเป็นฝายชั่วคราวซึ่งสร้างด้วยกิ่งไม้ ใบไม้ ไม้ไผ่ เสาไม้ ทราย กรวด และหิน ฯลฯ ส่วนฝายถาวรส่วนใหญ่มักสร้างด้วยวัสดุที่มีความคงทนถาวร ได้แก่ หิน และ คอนกรีต เป็นต้น
  • ในลําน้ำที่มีน้ำไหลมาอย่างพอเพียงและสม่ำเสมอตลอดฤดูกาลเพาะปลูก ฝายจะช่วยทดน้ำในช่วงที่ไหลมาน้อย และมีระดับต่ำกว่าตลิ่งนั้นให้สูงขึ้น จนสามารถผันน้ำเข้าสู่คลองส่งน้ำไปยังไร่นาต่อไป และในหน้าแล้ง ถึงแม้ว่าปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้อาจไม่มากพอสําหรับการเพาะปลูก แต่น้ำที่กักเก็บไว้ในบริเวณด้านหน้าฝาย จะเป็นประโยชน์สําหรับการอุปโภคบริโภคของประชาชนในละแวกนั้น ๆ
  • นอกจากนี้ ในลําน้ำที่มีขนาดใหญ่ มักนิยมสร้างเขื่อนทดน้ำซึ่งเรียกว่า "เขื่อนระบายน้ำ" ซึ่งจะสามารถทดน้ำให้มีความสูงในระดับที่ต้องการเมื่อน้ำหลากมาเต็มที่ เขื่อนระบายน้ำจะเป็นบานระบายน้ำให้ผ่านไปได้ในปริมาณที่มากกว่าฝาย

 

งานฝายทดน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดําริ ที่ก่อสร้างในภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ ฝายบ้านท่าโป่งแตง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ฝายห้วยน้ำพร้า อําเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นต้น

ภาคใต้ ได้แก่ ฝายทดน้ำคลองสุไหงปาดี อําเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ฝ่ายทดน้ำคลองไม้เสียบ จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ฝ่ายห้วยโคโล่ จังหวัดอุดรธานี เขื่อนระบายน้ำลำน้ำเขิน อําเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น

 

งานขุดลอกหนองบึง

  • เป็นการขุดลอก หนอง บึง ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ให้สามารถเก็บน้ำได้มากขึ้น เนื่องจากหนอง บึง ส่วนใหญ่มักตื้นเขินจากการเคลื่อนตัวของตะกอนลงสู่หนองและบึง ทําให้ไม่สามารถเก็บน้ำได้มากนัก และอาจไม่มีเพียงพอในฤดูแล้ง ดังนั้น การขุดลอกตะกอนดินที่อยู่ในหนองและบึง จึงเป็นวิธีการเพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำของหนองและบึงนั้น ๆ
  • ในปัจจุบัน ห้วย คลอง หนองบึงต่าง ๆ มักตื้นเขิน และถูกบุกรุกทําให้เกิดความเดือนร้อนแก่ชุมชน "ในหลวงรัชกาลที่ 9" จึงมีพระราชดำริให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำาเนินการขุดลอก หนอง และ บึง ที่มีอยู่ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ได้แก่ ในอําเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร อําเภอนาแก อําเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม เป็นต้น

 

งานสระเก็บน้ำ

สระเก็บน้ำ คือ สระสําหรับเก็บกักน้ำฝน น้ำที่ไหลมาตามผิวดิน หรือ น้ำซึมจากดินสู่สระเก็บน้ำ โดยมีขนาดต่าง ๆ กัน ส่วนใหญ่เป็นสระน้ำขนาดเล็ก มักสร้างในบริเวณที่ไม่มีลำน้ำธรรมชาติ ในการขุดสระเก็บน้ำ มักนําดินที่ขุดขึ้นมาถมเป็นคันล้อมรอบสระ

"ในหลวงรัชกาลที่ 9" ทรงตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำ ในไร่นาและการอุปโภคบริโภคซึ่งนับแต่จะรุนแรงมากขึ้น การทําอ่างเก็บน้ำ ฝายทดน้ำ หรือการขุดลอกหนองบึง ซึ่งมีอยู่จํากัด ไม่อาจจะจัดหาแหล่งน้ำได้พอเพียงแก่ราษฎรที่มีถิ่นฐานกระจายอยู่โดยทั่วไป ดังนั้น จึงพระราชทานแนวพระราชดำริในการขุดสระน้ำในไร่นาของเกษตรกร เพื่อให้มีน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี สําหรับการอุปโภคบริโภคและทางการเกษตร พระราชดำริดังกล่าวมีชื่อว่า "ทฤษฎีใหม่" ซึ่งจัดทําแห่งแรกในพื้นที่ใกล้วัดมงคลชัยพัฒนา อําเภอเมือง จังหวัดสระบุรี ในพื้นที่ 15 ไร่ มีการขุตสระน้ำลึกประมาณ 9 เมตร ความจุสระ ประมาณ 10,000 ลูกบาศก์เมตร ส่วนพื้นที่ที่เหลือเป็นพื้นที่ปลูกข้าว พืชไร่ และไม้ผล รวมทั้งตัวบ้าน

 

แนวพระราชดําริในการจัดหาน้ำตาม "ทฤษฎีใหม่" นี้ ได้มีการขยายผลไปในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยความร่วมมือของหน่วยราชการและองค์กรเอกชน ทําให้เกษตรกรจํานวนมากได้ประโยชน์จากการที่มีน้ำเพียงพอสําหรับการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี มีอาหารจากไร่นาสําหรับการบริโภคในครัวเรือน และมีรายได้พอเพียง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดําริ ในส่วนความรับผิดชอบของกรมชลประทานที่ดําเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจนถึงปี พ.ศ. 2537 มีดังนี้ ได้แก่ ภาคเหนือ 548 โครงการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 334 โครงการ ภาคกลาง 256 โครงการ ภาคใต้ 286 โครงการ รวมทั้งสิ้น 1,329 โครงการ สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคให้มีน้ำใช้อย่าง เพียงพอตลอดปี และส่งน้ำให้แก่พื้นที่เกษตรในพื้นที่รวมทั้งสิ้น 3,200,000 ไร่

 

 

ข่าวยอดนิยม